logo ถกไม่เถียง

ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้ามบิดเบือน ทนายเกิดผล สับเละ อย่าปิดปากปชช.

ถกไม่เถียง : จากกรณีที่คนบันเทิง ตบเท้าออกมา call out เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีน ทำให้หลายคนถูกเรียก ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,ช่อง7HD,TERODigital,กด35,ดารา,callout,ดาราcallout,ศรีสุวรรณ,ทนายเกิดผล,ผิดกม,รัฐธรรมนูญ,กฎหมาย,ประชาชน,ความยุติธรรม,วิพากษ์วิจารณ์,รัฐบาล,เสรีภาพ,การแสดงออก

599 ครั้ง
|
26 ก.ค. 2564
          จากกรณีที่คนบันเทิง ตบเท้าออกมา call out เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีน ทำให้หลายคนถูกเรียกสอบเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาล กลับยิ่งทำให้คนที่ไม่เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มาก่อนเริ่มจะออกมา call out กันเพราะเหตุการณ์นี้ โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 
 
           วันนี้ (26 ก.ค.2564)  รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ จึงได้เชิญ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง มาถกกันในประเด็นนี้
 
ถกไม่เถียง : ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้าม
 
การ call out วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทำได้หรือไม่?
 
            นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผย การ call out สามารถทำได้ แต่ห้ามบิดเบือน หรือใส่ความ อย่าเลยเถิดเกินไป จริงๆเราสามารถตีความเองได้ว่าสิ่งที่เราโพสต์ หรือเราพูดไปมันก่อให้เกิดความเสียหายไหม ถ้าทำให้คนอื่นเสียหายก็อย่าทำ มันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคนที่มีหน้าที่ตัดสิน คือศาล หาก call out แล้วเลยเถิดจนนำไปสู่การแจ้งความฟ้องร้อง เราก็จะเสียหายไปด้วย รัฐบาลไม่มีสภาพทางนิติบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ถ้าไประบุ นาย ก. นาย ข. หรือ นาย ค. แบบนี้มีสิทธิ์ที่เขาจะฟ้องได้ เพราะกฎหมายไม่คุ้มครอง
 
           ทนายเกิดผล แก้วเกิด ระบุว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนว่า คนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งการแสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาล และคนทั่วไป สามารถทำได้ ส่วนที่บอกว่าแสดงความคิดเห็นได้ แต่อย่าเลยเถิด อะไรคือขอบเขตของการเลยเถิด ในภาวะที่ประชาชนตกทุกข์ได้ยาก มันอาจจะมีอารมณ์เข้ามาร่วม ลองถ้าพ่อแม่เราเสียชีวิตบ้าง เขาก็อาจจะวิจารณ์ไปด้วยอารมณ์ ไม่ใช่เอะอะก็เอากฎหมายมากด อย่าเอาความรู้สึกของพนักงานสอบสวน, รัฐบาล หรือความรู้สึกของรัฐมนตรีมาคิดเองแทนกฎหมายไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร
 
ถกไม่เถียง : ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้าม
 
ประโยคที่ว่า รัฐบาลฆาตกร ผิดกฎหมายไหม?
 
          ศรีสุวรรณ : ถ้าตามรัฐธรรมนูญเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เป็นการวิพากษณ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลถือว่าไม่ผิด แต่กฎหมายที่เอาผิดไม่ใช่แค่กฎหมายอาญา แต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกี่ยวข้องกับมาตรา 9 อาจจะตีความถึงความมั่นคงที่ทำให้เกิดความแตกแยก เราต้องดูให้ครบทุกด้านหากพลาดพลั้งไปแล้วเกิดถูกดำเนินคดีจะเสียหาย
 
         ทนายเกิดผล : ฟันธงว่าไม่ผิด เพราะตามประมวลกฎหมาย เวลาจะดำเนินคดีกับใครข้อหาหมิ่นประมาท ผู้ใดใส่ความผู้อื่น คำว่าผู้อื่นหมายความว่านิติบุคคล แต่รัฐบาลไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ฉะนั้นไม่เข้าองค์ประกอบนี้ สำหรับข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ที่ระบุว่า บิดเบือน อันนี้เรามาดูว่ารัฐบาลทำอะไร ถ้ารัฐบาลไม่ได้ทำตามหน้าที่ แต่ไปทำอย่างอื่น  รัฐบาลไม่ยอมทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คนรอดพ้นจากโควิด ทำให้คนตายจากโควิด ฉะนั้น ประชาชนวิจารณ์ว่า "รัฐบาลฆาตกร" ได้
 
 
ประโยคที่ว่า วัคซีนไร้ประสิทธิภาพ ผิดกฎหมายไหม?
 
         ทนายเกิดผล : คำว่าไร้ประสิทธิภาพ ไม่ฟันธงว่าผิดหรือไม่ผิด เพราะมันกำกวม ผมมองว่าเป็นการประชดประชันเหน็บแนมวัคซีน ซึ่งเขาไม่ได้บอกว่าเป็นวัคซีนชนิดไหน ไร้ประสิทธิภาพแค่ไหน หลายคนฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังติดโควิด ประชาชนก็มีสิทธิที่จะมองได้ว่าวัคซีนไร้ประสิทธิภาพ ถ้ามันไม่เกิดเหตุการณ์คนตายเพราะวัคซีน คนติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน แล้วมีคนออกมาบอกว่าวัคซีนไร้ประสิทธิภาพ ผมก็มองว่าเป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ แต่มันดันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริง
 
         ศรีสุวรรณ : มันอาจจะเป็นการใส่ความ ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม ทั้งๆที่ WHO รับรองวัคซีนที่นำมาฉีดแล้ว ดังนั้นการกล่าวหาว่าไร้ประสิทธิภาพ มันทำให้เกิดความเสียหาย วัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทยได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตราเซoเนก้า ตัวหลักส่วนใหญ่เป็นซิโนแวค จากที่ทราบข่าวฉีดแล้วติดเชื้อ ผลข้างเคียง เสียชีวิต วัคซีนแต่ละตัวมีประสิทธิภาพต่างกัน ไม่สามารถนำมาวัดกันได้ ดังนั้นหากกล่าวหาว่าไร้ประสิทธิภาพ ก็เท่ากับเป็นการใส่ความ
 
ประโยคที่ว่า รอวัคซีนนานแล้ว รัฐบาลไม่..ทำ...ไรเลย ผิดกฎหมายไหม?
 
          ศรีสุวรรณ : มันเป็นประโยคที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงระบุความผิดไม่ได้ แต่หากเติมคำที่เว้นไว้ก็จะสามารถชี้ชัดได้เลยว่าเป็นการกล่าวหา เพราะตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดรัฐได้ทำทุกอย่างมากมาย ส่วนจะทำแล้วมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะมากล่าวหาว่ารัฐไม่ทำไรเลยเท่ากับเป็นการหมิ่นประมาท
 
           ทนายเกิดผล : การบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เพราะเขารอวัคซีนนานแล้ว ไม่ได้ฉีดสักที ผมมองว่าไม่ผิด แต่ถ้าฉีดนานแล้วยังพูดแบบนั้น ก็อาจจะเข้าข่ายบิดเบือนได้
 
ถกไม่เถียง : ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้าม
 
ประโยคที่ว่า รัฐบาลเฮงซวย ผิดกฎหมายไหม?
 
         ทนายเกิดผล : มองว่าเหมือนกับรัฐบาลฆาตกร รัฐบาลไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงใคร
 
         ศรีสุวรรณ : ถ้าเป็นประชาชนพูดได้ แต่ถ้าเป็นนักการเมือง หรือฝ่ายค้านพูด จะมีความผิดในเรื่องของประมวลจริยธรรม ดังนั้นต้องดูบริบทว่าคนพูดเป็นใครรัฐบาล
 
ประโยคที่ว่า ผนงรจตกม ผิดกฎหมายไหม?
 
          ศรีสุวรรณ : คำนี้ไม่ผิดอยู่แล้ว เพราะอยู่ที่ว่าใครจะตีความไปยังไงก็ได้ เพราะฉะนั้นจะไปตีความว่าผิดกฎหมายก็คงไม่ใช่ 
 
         ทนายเกิดผล : ส่วนตัวมองไม่เห็นว่ามันจะผิดตรงไหน เพราะอยู่ที่แต่ละคนจะตีความ
 
ถกไม่เถียง : ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้าม
 
ประโยคที่ว่า นะจ๊ะพ่อ...สิ ผิดกฎหมายไหม?
 
       ศรีสุวรรณ : ไม่มีนัยยะที่จะตีความว่าเข้าข่ายความผิดใด เพราะเป็นการพูดลอยๆขึ้นมา ไม่ได้ระบุตัวตนเฉพาะ
 
       ทนายเกิดผล : ไม่ผิดอยู่แล้ว เพราะไม่มีบริบทว่าเป็นการด่าใคร หลายคำที่ศาลตีความว่าเป็นเพียงคำไม่สุภาพ
 
 
ถ้าภาครัฐออกมาประกาศ แล้วไม่เป็นไปตามที่ประกาศ เข้าข่ายมีความผิดไหม?
 
         ศรีสุวรรณ : การที่รัฐบาลบอกจะทำโน่นทำนี่ แต่ไม่ทำ ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่จะเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ฝ่ายค้านจะนำไปเป็นประเด็นโจมตี ในการอภิปราย
 
          ทนายเกิดผล : มันไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่เป็นคำพูดที่ควรจะต้องมีความรับผิดชอบ เมื่อรัฐบาลให้คำมั่นสัญยากับประชาชน แต่คุณทำไม่ได้ก็ควรต้องถูกลงโทษทางสังคม เช่น ที่บอกว่าจะไม่มีคนตายที่บ้านอีกแล้ว แต่ก็ยังมี แบบนี้คนที่พูดควรตัดสินใจลาออกไหม ใครที่ขึ้นมาเป็นนายกแล้วมีการให้คำมั่นสัญญาแต่ทำตามไม่ได้ มันควรมีกฎหมาย ปปช เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าทำตามสัญญาไม่ได้ก็น่าจะมีมาตรการอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้น ปชช ก็คงต้องรออย่างลมๆแล้งๆ
 
ถกไม่เถียง : ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้าม
 
 
ที่มีคนออกมาโพสต์ และแชร์เรื่องบรรจุผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง และต้องเสียภาษีเครื่องสำอาง ทำให้เกิดการแชร์และวิพากษ์วิจารณ์ออกไปเป็นวงกว้าง ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีการเก็บภาษีตามที่มีการแชร์ จนคนต้นเรื่องต้องออกมาลบโพสต์และขอโทษ แบบนี้คนโพสต์เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่?
 
         ทนายเกิดผล : ต้องดูที่เจตนาของเขา พ.ร.บ เครื่องสำอาง มีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าต้องมีการเสียภาษี ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตได้มีการยกเว้นภาษีผ้าอนามัยไว้ แต่ ประชาชนอาจจะไม่รู้ ซึ่งทางการก็ควรจะออกมาอธิบายให้ประชาชนฟังด้วย เพราะประชาชนทั่วไปก็ไม่อาจจะรู้ได้ว่าสิ่งไหนยกเว้น สิ่งไหนไม่ยกเว้น
 
         ศรีสุวรรณ : เรื่องผ้าอนามัยแบบสอด ในภาษากฎหมายอาจเรียกว่าเป็นการผิดหลงในสาระสำคัญ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ เขาก็มาขอโทษก็ไม่ใช่ความผิด แต่เราต้องตำหนิภาครัฐที่ออกกฎเกณฑ์มา ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจทั้งหมด ไม่ใช่ว่าพอมีข้อตำหนิบนโซเชียลก่อนถึงค่อยออกมาอธิบาย ดังนั้นทุกกระทรวง ทบวง กรม หากจะออกกฎอะไรออกมาต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ
 
ควรจะโพสต์อะไรที่ทำให้เราไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย?
 
        ทนายเกิดผล : ก่อนจะคอมเม้นต์อะไรเราต้องตั้งสติก่อน อย่าใช้อารมณ์ แยกให้ออกระหว่างความเกลียดชังกับข้อเท็จจริง ก่อนจะแชร์อะไรก็ต้องดูข้อมูลให้แน่ชัดว่าอะไรจริงหรือเท็จ ถ้าเรามีหลักฐานว่าเรามีส่วนได้ส่วนเสียในการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งนั้น เราก็สามารถด่าได้ เพราะมันคือความจริง
 
        ศรีสุวรรณ :ให้เปลี่ยนประโยคจะการวิจารณ์หรือใส่ความ เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย โดยเปลี่ยนให้เป็นประโยคคำถาม เช่น รัฐบาลเฮงซวย? (หรือเปล่า) จะไม่ผิดกฎหมายโดยชัดเจน ในทางกฎหมายจะเรียกว่าเป็นการเลี่ยงบาลี
 
ถกไม่เถียง : ศรีสุวรรณ ชี้ call out ทำได้แต่ห้าม
 
สรุปผลโพล ปชช. มีสิทธิ์วิจารณ์รัฐบาลหรือไม่? 
 
ติดตาม  รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ”  ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์  ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง  hitz955.com
 
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/ckimH-FQ6nM