logo ถกไม่เถียง

ประกันสังคม ตอบเอง ใครบ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000-10,000 บาท และจ่ายเงินผ่านช่องทางไหน : ช็อตเด็ด ถกไม่เถียง

ถกไม่เถียง : เปิดเงื่อนไข สำคัญที่ ผู้ประกันตน ของ ประกันสังคม มาตรา 33 ,39 ,40 ต้องรู้และทำตามจึงจะได้รับเงินเยียวยา กรณีได้รับผลกระทบจากการล็อก ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,ช่อง7HD,TERODigital,กด35,ประกันสังคม,ผู้ประกันตน,เยียวยา,ล็อกดาวน์,เคอร์ฟิว,ลงทะเบียน,10000บาท,มาตรการ,ม40,ม39,ม33,เงินเยียวยา,ตรวจสอบสิทธิ,แจกเงิน,ฟรีแลนซ์,อาชีพอิสระ,แจกเงิน5000,โควิด

4,693 ครั้ง
|
17 ก.ค. 2564
       เปิดเงื่อนไข สำคัญที่ ผู้ประกันตน ของ ประกันสังคม มาตรา 33 ,39 ,40 ต้องรู้และทำตามจึงจะได้รับเงินเยียวยา กรณีได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ครั้งล่าสุด
 
       หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบจ่ายเงินเยียวยาสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการ ล็อกดาวน์ ใน 10 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ในกลุ่ม 9 อาชีพ ที่กำหนด ก็มีคำถามมากมายที่ยังคลุมเครือและอาจทำให้สับสน ทั้งขั้นตอนในการรับสิทธิ์ และเงื่อนไขสำคัญต่างๆ
 
      ล่าสุด วันที่ 16 ก.ค.64 นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ถกไม่เถียง ออกอากาศทางช่อง7HD ตอบคำถามถึงข้อสงสัยต่างๆ สรุปเงื่อนไขสำคัญที่ต้องรู้ ดังนี้
 
1. ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทั้งมาตรา 33, 39 และ มาตรา 40 ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเงิน 
 
         อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดคือคิดว่าผู้ประกันตนในประกันสังคมจะได้รับเงินเยียวยารอบนี้ทั้งหมด แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้น การจ่ายเงินเยียวยานี้มีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด สีแดงเข้ม และได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องเป็นผู้ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย นั่นคือองค์กรที่ทำงานอยู่ไม่สามารถดำเนินงานได้ในช่วงล็อกดาวน์ หรือปิดกิจการ เท่านั้น ที่จะได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ และเงินสมทบ 2,500 บาท ส่วนผู้ประกันตนที่ยังทำงานอยู่ ยังมีรายได้ หรือแม้แต่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยการลดเงินเดือน ก็จะไม่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาเช่นกัน แต่จะได้รับเงินสมทบ 2,500 บาท เท่านั้น
 
        รวมถึงกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา39 และมาตรา40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในเกณฑ์ 9 กลุ่มอาชีพ ที่อยู่ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มเท่านั้น ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา จึงจะได้รับเงินเยียวยา
 
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยา ต้องเป็นนายจ้างและผู้ประกันตน ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่
 
กลุ่มที่ 1: 9 หมวดกิจการ (เพิ่มเติมจากเดิม 4 หมวด) ประกอบด้วย
 
- ก่อสร้าง
- ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
- กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ
- ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์
- ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์
- กิจกรรมทางวิชาการ
- ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร
 
กลุ่มที่ 2: 5 กิจการของถุงเงิน (เพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ประกอบด้วย
 
- ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
- ร้าน OTOP
- ร้านค้าทั่วไป
- ร้านค้าบริการ
- กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)
 
รายละเอียดของการเยียวยา แบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ
 
1. ลูกจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 หมวด ที่ถูกเลิกจ้าง รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท ส่วนลูกจ้าง ม.33 ที่ยังทำงาน ยังมีรายได้ จะได้เงินสมทบ 2,500 บาทต่อคน
2. นายจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน
3. สำหรับผู้ประกันตนตาม ม.39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน
4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
7. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
8. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
 
 
 
 2. "อาชีพอิสระ" หรือ "ฟรีแลนซ์" มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตน "ประกันสังคมมาตรา 40" เท่านั้น
 
        นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกันตนรายเก่า ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 อยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนประกาศมาตรการวันที่ 28 มิ.ย. 64 หากมีคุณสมบัติครบตามที่มาตรการกำหนด จะมีสิทธิได้รับ เงินเยียวยา 5,000 อัตโนมัติ ไม่ต้องลงทะเบียนหรือไปที่สำนักงานประกันสังคม เพียงแค่ ผูกพร้อมเพย์ด้วยบัตรประชาชน
 
       แต่สำหรับ ผู้ประกอบ "อาชีพอิสระ" ที่ยังไม่ได้อยู่ในประกันสังคมมาตราใดเลย จะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายใน 30 ก.ค.นี้ จึงจะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ซึ่งสามารถสมัครได้ที่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขา ,บิ๊กซี ,ธกส., เครือข่ายประกันสังคม หรือเข้าไปสมัครในเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยใช้หลักฐานแค่บัตรประชาชนเท่านั้น
 
       อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มใหม่ที่กำลังสมัครเข้าระบบประกันสังคม มาตรา40 นี้ แม้มติ ครม. รับโดยหลักการแล้ว แต่จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้งในวันอังคารหน้า (20 ก.ค.) ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรสำหรับกลุ่มที่เพิ่งสมัครเข้าร่วมในช่วง 29 มิ.ย.-30 ก.ค. นี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มใหม่ ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลตั้งแต่แรก
 
3. จ่ายเงินผ่าน "พร้อมเพย์" แต่ต้องผูกกับ "บัตรประชาชน" เท่านั้น! 
 
         สำหรับรายละเอียดการจ่ายเงินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 หรือ 40 ต่างต้องรับเงินผ่านช่องทางเดียวกัน คือ "พร้อมเพย์" โดยสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ไม่ต้องมายื่นเอกสารเพิ่มเติม เพราะประกันสังคม มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว
 
        สิ่งที่ต้องทำมีอย่างเดียว คือ ต้องเปิดบัญชี "พร้อมเพย์" ที่ผูกกับ "บัตรประชาชน" เท่านั้น ห้ามผูกบัญชีกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อรอรับเงินเยียวยาตามสิทธิ์
 
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน Call center 1506 (ให้บริการ24ชั่วโมง)  และเว็บไซต์ www.sso.go.th
 
ติดตาม  รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ”  ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์  ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง  hitz955.com