logo ถกไม่เถียง

ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้เยียวยาประกันสังคม สูงสุด 10,000 บาท!

ถกไม่เถียง : ประกันสังคม ไขทุกข้อสงสัย ใครบ้างได้เงินเยียวยาประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 พร้อมเปิดวิธีรับเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับบ ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,ช่อง7HD,TERODigital,กด35,ประกันสังคม,ผู้ประกันตน,เยียวยา,ล็อกดาวน์,เคอร์ฟิว,ลงทะเบียน,10000บาท,มาตรการ,ม40,ม39,ม33,เงินเยียวยา,ตรวจสอบสิทธิ,แจกเงิน,ฟรีแลนซ์,อาชีพอิสระ,แจกเงิน5000,โควิด

3,076 ครั้ง
|
16 ก.ค. 2564

       ประกันสังคม ไขทุกข้อสงสัย ใครบ้างได้เงินเยียวยาประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 พร้อมแจงวิธีรับเงินเยียวยา

          วันนี้ (16 ก.ค.2564) นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ถึงประเด็นข้อสงสัยในเรื่องการรับเงินเยียวยาของประกันสังคม ดังนี้
 
ถกไม่เถียง : ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้
 
1. หลักการของการเยียวยาในครั้งนี้คือ?
 
ตอบ : มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 เห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด-19 เป็นมาตรการเยียวยาล็อกดาวน์ จากคำสั่งปิดสถานที่ กิจการ ที่ออกตามข้อกำหนดมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 โดยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว พื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ  สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดย เยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคมใน 9 สาขา ได้แก่ (1) ก่อสร้าง (2) กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (3) กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ (4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด (5) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (6) การขายส่งและการขายปลีก  การซ่อมยานยนต์ (7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ (9) สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
 
2. เยียวยา 9 อาชีพ ครอบคลุมได้ครบทั้งหมดหรือไม่?
 
ตอบ : ประเภทกิจการที่กำหนด ประกันสังคม เรามีอยู่ 2 กองทุน คือกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งกองทุนเงินทดแทน เป็นการดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เราจึงดึงประเภทกิจการมา นายจ้างเวลามาขึ้นทะเบียนก็ต้องบอกว่าเขาอยู่ประเภทกิจการไหน เพราะจะนำไปคำนวณอัตราเงินสมทบ เหมือนเวลาซื้อประกันหมู่ ถ้าเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงเยอะ ก็จะเสียเงินสมทบเยอะ เพราะความเสี่ยงต่างกัน จึงมีการกำหนดประเภทของกิจการขึ้น ดังนั้น ประเภทของกิจการนึงก็จะมีดีเทลแยกย่อยไปค่อนข้างที่จะเยอะ ดังนั้นจึงค่อนข้างจะครอบคลุมทุกอาชีพ
 
3. เยียวยาให้กับคนที่กระทบจริงๆ หรือไม่?
 
ตอบ : เรื่องของการเยียวยา มติ ครม. ได้พูดถึงโจทย์ที่เพิ่มมากขึ้น มีมติให้มีการเยียวยาเพิ่มมากขึ้น นับย้อนไป มติ ครม.เดิมได้มีการเยียวยา ผู้ประกันตน ม.33 ที่อยู่ในประเภท 4 กิจการ และอยู่ใน 6 จังหวัด นอกจากตอนนี้จังหวัดจะเพิ่มมากขึ้น ประเภทกิจการที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากผู้ประกันตน ม.33 แล้ว ตอนนี้มีการเพิ่มผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 เข้ามา เพราะประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการปิดหลายๆกิจการ ลดเวลาประกอบการลง จึงมีมติเยียวยานี้ิิขึ้นมา 
 
4. ผู้ประกันตน มาตรา 33 ต้องเป็นกิจการที่ถูกสั่งปิดหรือไม่ถึงได้รับการเยียวยา?
 
ตอบ :สำหรับ ม.33 นั้น แบ่งเป็น 2 แบบ สำหรับธุรกิจที่ปิดกิจการ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) โดยมีเงื่อนไขว่า คนที่ได้จะต้องไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างแล้ว ถ้ายังทำงานแล้วได้รับรายได้อยู่ จะไม่ได้รับการเยียวยาในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีการจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน ซึ่งคนที่อยู่ใน ม.33 ในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้ในส่วนนี้ทั้งหมด ดังนั้นคนที่ถูกเลิกจ้างรวมแล้วจะได้สูงสุด 10,000 บาท
 
ยกตัวอย่าง : นาย ก. ทำงานอยู่ กทม. ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 7,500 บาท + เงินสมทบ  2,500 บาท = 10,000 บาท
                 : นาย ข. ทำงานอยู่ กทม. ยังทำงานอยู่ ยังมีรายได้ จะได้รับเงินสมทบ  2,500 บาท 
                 : นาย ค. ทำงานอยู่ เชียงใหม่ ยังทำงานอยู่ ยังมีรายได้ จะไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะอยู่นอกพื้นที่ 10 จังหวัด
                 : นาย ง. ทำงานอยู่ กทม. ยังทำงานอยู่ แต่ถูกลดเงินเดือน จะได้รับเงินสมทบ  2,500 บาท 
                : นาย จ. ทำงานอยู่ เชียงใหม่ ถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้รับเงินชดเชยในส่วนของมาตรการนี้ เพราะอยู่นอกพื้นที่ 10 จังหวัด
 
         4.1 ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่โดนลดเงินเดือน จะได้รับการเยียวยาหรือไม่?
 
          ตอบ : สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่โดนลดเงินเดือน แต่ยังต้องทำงาน ถือว่าเป็นการตกลงกับนายจ้าง ซึ่งจะเป็นการลดเงินเดือน แลกกับการลดจำนวนวันทำงาน ในส่วนนี้ จะไม่ได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ แต่จะได้ในส่วนของเงินสมทบ 2,500 บาท ยกเว้นว่า นายจ้างแจ้งว่า เดือนนี้ลดเงินเดือน 50% แล้วมาทำงานครึ่งเดือน หลังจากนั้นไม่ต้องมาทำงาน ตรงนี้ถึงจะได้เงินชดเชย
 
           4.2 ถ้าบริษัทจดทะเบียนนอกพื้นที่ 10 จังหวัด เขตพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ตัวบริษัทปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้รับการเยียวยาหรือไม่
 
          ตอบ : ตรงนี้มีเกณฑ์ให้นายจ้าง แจ้งสาขาเข้ามาได้ หากสำนักงานใหญ่อยู่นอกเขตพื้นที่ 10 จังหวัด แต่สาขาอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้รับเงินเยียวยาในสาขาที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม
 
         4.3 ถ้าบริษัทอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด เขตพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ถูกส่งตัวไปทำงานนอกเขตพื้นที่ จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่?
 
         ตอบ : สำหรับกิจการที่อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด แล้วท่านถูกส่งไปทำงานประจำในสาขาที่ไม่เข้าเงื่อนไข ก็จะไม่ได้รับการเยียวยาในส่วนนี้ 
 
         4.4 ถ้าเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือน 15,000 บาท แต่โดนลดเงินเดือนเหลือ 10,000 บาท ก่อนจะถูกเลิกจ้าง จะจ่ายเงินชดเชย 50% โดยใช้ฐานเงินเดือนไหน?
 
         ตอบ : สำนักงานประกันสังคม จะไปดูเงินเดือนย้อนหลัง ในช่วง 1 ปี มีการส่งเงินสมทบเข้ามาเท่าไหร่ โดยปกติจะนำเงินที่มีค่าจ้างสูงสุดมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยให้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน
 
         4.5 ผู้ประกันตน ม.33 ต้องลงทะเบียนหรือไม่?
 
         ตอบ :สำหรับผู้ประกันตน ม.33 ที่ถูกเลิกจ้างแล้วเข้าเกณฑ์ได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะประกันสังคมมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าวันนี้ต้องหยุดงาน ประกันสังคมก็มีวิธีที่จะโอนเงินเข้าไปในบัญชีของผู้ประกันตนโดยวิธีเดิมอยู่แล้ว โดยนายจ้างจะเป็นผู้แจ้งเข้ามาว่ามีการเลิกจ้าง และให้ลูกจ้างกรอกแบบฟอร์มที่นายจ้าง นายจ้างจะเป็นคนส่งมาให้ทางประกันสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับเงินสมทบ 2,500 บาท นั้น ที่มาของเงินต่างกัน จะใช้วิธีโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยผู้ประกันตน ม.33 ไม่ต้องแจ้งเข้ามา เดี๋ยวจะมีวิธีการขึ้นให้ตรวจสอบสิทธิและวิธีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
 
ถกไม่เถียง : ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้
 
5. ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับการเยียวยาอย่างไร?
 
ตอบ : ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบทุกเดือนไม่ได้ขาด ก็จะได้รับสิทธเยียวยา โดยเรามีระบบ SMS คอยติดต่อกับเขาอยู่แล้ว ซึ่งถ้าขาดส่ง 3 เดือนก็จะหลุดจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 สำหรับผู้ประกันตน มาตรา39 เรากำลังเตรียมข้อมูลให้ตรวจสอบอยู่เช่นเดียวกับ มาตรา 33
 
         5.1 ถ้าลงทะเบียน ม.39 ที่จังหวัดอื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด แต่มาทำงานในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่?
 
         ตอบ : ในเบื้องต้นมีการใช้ข้อมูลเฉพาะที่อยู่ในเขตพื้นที่ 10 จังหวัดนี้ สำหรับเรื่องนี้จะรับปัญหาไปเพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้งในวันอังคารหน้า (20 ก.ค.) ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร
 
6. อาชีพอิสระ ถ้าไปสมัคร ม.40 ตอนนี้ จะได้รับการเยียวยาหรือไม่?
 
ตอบ : หลักการเยียวยาครั้งนี้ จะช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ถ้าท่านประกอบอาชีพอิสระอยู่แล้วได้รับผลกระทบ เรื่องนี้คณะทำงานกำลังคุยกันอยู่เรื่องมาตรการเยียวยาคนในกลุ่มนี้
 
         6.1 ถ้าลงทะเบียน ม.40 ที่จังหวัดอื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด แต่มาทำงานในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่?
 
         ตอบ : ในระบบของมาตรา 40 ถ้ามีการย้ายที่อยู่ จะต้องมีการแจ้งการเปลี่ยนข้อมูลด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อรอความชัดเจนต่อไป
 
ถกไม่เถียง : ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้
 
7. จะได้เงินเยียวยาเมื่อไหร่?
 
ตอบ : ต้องรอมติ ครม.ในวันอังคารที่ 20 ก.ค.นี้ ถึงจะมีความชัดเจน
 
8. ทำไมถึงไม่เยียวยาทั่วประเทศไปเลย?
 
ตอบ : รัฐบาลพยายามที่จะเยียวยาให้ทั่วถึง แต่ตอนนี้เรากำลังมองไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเยียวยาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน และจะมีการพิจารณาขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป
 
9. ผู้ประกันตน ม.39 , ม.40 จะได้รับเงินเยียวยาอย่างไร?
 
ตอบ : ขอให้รอความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากการเยียวยารอบนี้ ไม่ใช่เงินของกองทุนประกันสังคม วิธีจ่ายจะเป็นการจ่ายผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งผูกกับบัตรประชาชน เงินก็จะถูกโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ดังนั้นต้องเปิดบัญชีพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน เพราะฐานข้อมูลของประกันสังคมผูกกับบัตรประชาชน ไม่ใช่โทรศัพท์
 
10. ผู้ประกันตน ม.39 , ม.40 จะได้รับเงินเยียวยาเมื่อไหร่?
 
ตอบ : สำหรับผู้ประกันตนเดิม ถ้า มติ ครม.ในวันอังคารที่ 20 ก.ค.นี้ ออกมา เราก็พร้อมที่จะโอนให้ต้นเดือน หรือสิ้นเดือน ส.ค.ได้เลย แต่ประเด็นอยู่ที่คนที่จะสมัครเข้ามาใหม่ ต้องดูมติ ครม.ว่าจะออกมาอย่างไร ถึงจะมีความชัดเจน
 
11. คนที่อายุเกินเกณฑ์  65 ปี ไม่สามารถสมัคร ม.40 ได้ จะได้รับการเยียวยาหรือไม่?
 
ตอบ : ในกลุ่มนี้จะได้รับการเยียวยาเป็นประจำอยู่แล้ว โดยกลุ่มนี้จะมีเบี้ยผู้สูงอายุช่วยเหลืออยู่แล้ว
 
ถกไม่เถียง : ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้
 
12. คนที่มีบัตรทอง บัตรคนจน บัตรสวัสดิการต่างๆ แล้วมาสมัคร ม.40 สิทธิที่มีอยู่จะหายไปหรือไม่?
 
ตอบ : ไม่หายไปเลย การสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 เรามีให้เลือก 3 ทางเลือก ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่างกัน
 
13. อัตราเงินสมทบ ม.40 มีการลดเงินสมทบ 40% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทำไม ม.33 และ ม.39 ถึงไม่ได้ลด?
 
ตอบ : ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ได้ลดเงินสมทบมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดขึ้น และตอนนี้ก็ลดให้อยู่ถือว่าเป็นครั้งที่ 5 
 
14. ผู้ประกันตน ม.40 เมื่อสมัครไปแล้ว ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทแล้ว ต้องจ่ายเงินสมทบต่อหรือไม่?
 
ตอบ : ตามหลักการเดิม การสมัคร ม.40 เป็นการสมัครใจ ถ้าเลิกจ่ายสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ก็หายไป แต่ถ้าสมัครมาเพื่อเอาเงิน 5,000 บาท แล้วเลิกจ่าย เงินสมทบเลย ตรงจุดนี้เป็นโจทย์ที่จะนำไปพิจารณาเสนอในที่ประชุม ครม.อีกทีว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร
 
15. ฟรีแลนซ์ที่สมัคร ม.40 แล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ? ต้องส่งเงินสมทบให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน ถึงจะได้รับการเยียวยาหรือไม่?
 
ตอบ : สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบ ลงทะเบียน ม.40 แล้วอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ถ้าเข้าข่ายก็จะได้รับการช่วยเหลือ ส่วนเรื่องต้องจ่ายเงินสมทบในระยะเวลาเท่าไหร่ อยากให้รอความชัดเจนในวันอังคารที่ 20 ก.ค.นี้ 
 
16. ผู้ประกันตน ม.40 ที่ส่งเงินสมทบ 70 บาท , 100 บาท หรือ 300 บาท จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 เท่ากันหรือไม่?
 
ตอบ : ได้รับเงินเยียวยาเท่ากันทุกคน
 
ถกไม่เถียง : ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้
 
17. ผู้ประกันตน ม.40 ที่ขาดส่ง ต้องสมัครใหม่หรือไม่?
 
ตอบ : ไม่ต้อง แค่ไปจ่ายเงินสมทบ
 
18. ผู้ประกันตน ม.39 ที่ขาดส่ง จะสามารถสมัคร ม.40 ได้หรือไม่?
 
ตอบ : ผู้ประกันตน ม.39 ที่ขาดส่ง สามารถสมัคร ม.40 ได้
 
19. สามารถเช็คสิทธิการเยียวยาได้ที่ไหน อย่างไร?
 
ตอบ : การเช็คสิทธิการเยียวยาสามารถเช็คสิทธิได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th ซึ่งน่าจะต้องรอผ่าน ครม.วันอังคารที่ 20 ก.ค.นี้ก่อน เนื่องจากต้องหารือในเรื่องของวิธี ขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร 
 
20. การสมัครพร้อมเพย์ทำได้อย่างไร
 
ตอบ :สำหรับการเปิดใช้พร้อมเพย์ ท่านสามารถเปิดได้กับธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่เพียงแค่เชื่อมกับบัญชีธนาคารเท่านั้น ซึ่งการสมัครพร้อมเพย์เพื่อรับเงินเยียวยา ต้องสมัครพร้อมเพย์ผูกกับบัตรประชาชนเท่านั้น  ช่องทางในการสมัครพร้อมเพย์ ก็สามารถสมัครผ่าน Mobile Banking , Internet Banking, ตู้ ATM, สาขาธนาคาร,คอลเซ็นเตอร์ หรือ เว็บไซต์ของธนาคาร
 
 หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน Call center 1506 (ให้บริการ24ชั่วโมง)  และเว็บไซต์ www.sso.go.th
 
ถกไม่เถียง : ไขทุกข้อสงสัย ตอบให้ทุกอาชีพ ใครได้
สรุปผลโพล คุณงงกับมาตรการเยียวยา แจกเงินประกันสังคม หรือไม่?

        ติดตาม  รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ”  ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์  ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง  hitz955.com

ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/GyRbQ87cBvQ