เปิดมาตรการเยียวยาโควิด รอบล่าสุด ช่วย "ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 " ฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ลดผลกระทบเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ ในพื้นที่สีแดงเข้ม
วันที่ 14 ก.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ศบศ. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ถึงมาตรการการเยียวยาของภาครัฐ ต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการผ่านระบบ Video Conference ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยรายละเอียดสำคัญดังนี้
1. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม
1.1 ขอบเขตของกิจการที่ได้รับการเยียวยา
กลุ่มที่ 1: 9 หมวดกิจการ (เพิ่มเติมจากเดิม 4 หมวด) ประกอบด้วย 1) ก่อสร้าง 2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4) กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5) ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9) ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร
กลุ่มที่ 2: 5 กิจการของถุงเงิน (เพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ประกอบด้วย 1) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2) ร้าน OTOP 3) ร้านค้าทั่วไป 4) ร้านค้าบริการ 5) กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)
1.2 ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ: 1 เดือน (อาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์)
1.3 รายละเอียดของการเยียวยา แบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ
1. ลูกจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท
2. นายจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน
3. สำหรับผู้ประกันตนตาม ม. 39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน
4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
7. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
8. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3) รวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท
กลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ สามารถรับสิทธิรับเงิน 5,000 บาทได้ เพียงยื่นเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายในกรกฎาคม 2564 โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร คนขับวินมอเตอร์ไซค์ หรือคนขับแท็กซี่
- อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33
- ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39
- ไม่เป็นข้าราชการหรือเป็นบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมาย
ทางเลือก จ่ายเงินสมทบ ประกันสังคม ม.40 : นอกจากสิทธิการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทสำหรับกลุุ่มแรงงานอิสระที่เข้าข่ายใน 9 กลุ่มอาชีพ และอยู่ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงแล้ว
การสมัครประกันสังคม ม.40 ในกรณีทั่วไป ยังจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอื่นๆ ตามจำนวนเงินที่เราจ่ายสบทบ ซึ่งปัจจุบันมี 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท , ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท
ทั้งนี้ ตามมติ ครม. เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของ 'ผู้ประกันตนมาตรา 40' ให้เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ (เดิม) เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ ส.ค. 64 – ม.ค. 65 โดยลดเหลือ ดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 จากเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่ เป็น 42 บาท/เดือน
- ทางเลือกที่ 2 จากเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน
- ทางเลือกที่ 3 จากจากเดิมจ่าย ในอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 180 บาท/เดือน
ช่องทาง "สมัครประกันสังคม ม.40" ง่ายๆ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว :
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครได้ง่ายๆ ตามช่องทางดังนี้
- สมัครผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11)
- สมัครผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
- สมัครผ่านเคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C)
- สมัครผ่านผู้แทนเครือข่ายประกันสังคม
ทั้งนี้ เมื่อสมัครแล้วสามารถจ่ายเงินสมทบได้ทันที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง
2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับประชาชนทั่วประเทศ
2.1 ค่าไฟฟ้า ให้มีการลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ สค. 2564
–สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
– สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้
1) หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ. 64 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
2) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ. 64 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64
3) หากใช้ 501 – 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 50
4) หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 70 ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม
– สำหรับกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
– สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564
2.2 ค่าน้ำประปา ลดร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ระยะเวลา 2 เดือน (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ สค. 2564 โดยรวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท
3. มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่นๆ
3.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา -ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในภาคเรียนที่ 1 /2564 และให้จัดทำโครงการที่รัฐร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย
3.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการนอกระบบการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนด้วย และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ โฆษก ศบศ. ยังเปิดเผยว่า ตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการไปดูแลหาวิธีการเยียวยาเรื่องค่าเล่าเรียน ค่าเทอมแล้ว อาจจะให้รัฐบาลช่วยจ่ายส่วนหนึ่ง หรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่จะต้องรวบรวมมา แล้วจะนำเข้าประชุมภายในสัปดาห์หน้า หลายสิ่งหลายอย่าง ท่านนายกฯ ได้มีการหารือตลอด และบางส่วนก็ได้มีการออกแบบไว้แล้ว แต่ตอนนี้เน้นไปที่การเยียวยาตามพื้นที่ที่เดือดร้อนไปก่อน สำหรับบางจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก ก็อาจจะต้องรอนิดหนึ่ง ผมเข้าใจทุกท่าน เพราะผมเองก็เป็นลูกชาวบ้าน บางครั้งผมก็เห็นว่ามันยุ่งยากเช่นกัน แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลของพี่น้องประชาชนอยู่ใน Big Data หมดแล้ว จากโครงการต่างๆ ที่ทำมา
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com