โฆษก ศบศ.แจง มติ ครม.เคาะมาตรการเยียวยา ล็อกดาวน์ 10 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม แจกเงินผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 ฟรีแลนซ์ 2,500 - 5,000 บาท ขยายเพิ่มประเภทกิจการเป็น 9 สาขา เป็นระยะเวลา 1 เดือน พร้อม ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 2 เดือน
วันนี้ (14 ก.ค.2564) นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ศบศ. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ถึงมาตรการการเยียวยาของภาครัฐ ต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โฆษก ศบศ. เผย นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำเรื่องเข้าสู่ ครม. 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ เรื่องเยียวยา, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าเทอม และ มาตรการเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้ โดยที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม เป็นระยะเวลา 1 เดือน
โดยรายละเอียดของการเยียวยา แบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งขอบเขตของกิจการที่ได้รับการเยียวยา 9 หมวดกิจการ ประกอบด้วย 1 ก่อสร้าง 2 ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3 ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4 กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5 ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6 ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7 กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8 กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9 ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร
ส่วนกิจการของถุงเงิน (เพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ประกอบด้วย 1 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2 ร้าน OTOP 3 ร้านค้าทั่วไป 4 ร้านค้าบริการ 5 กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)
ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม.33 ในกิจการ 9 หมวดข้างต้น ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัย โดนให้ออกจากงาน ปิดกิจการ รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท หลักการใหญ่ก็คือ คุณต้องทำงานในพื้นที่ 10 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม
สำหรับผู้ประกันตนตาม ม. 39 คือคนที่เคยไปทำงานแล้วลาออกมา แต่ยังมีประกันสังคมอยู่แล้วอยากจะจ่ายต่อ ส่วนมาตรา 40 ก็คือ ไม่เคยเข้าสู่ระบบมาก่อน คือคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ ทั้ง 2 ส่วนนี้รัฐบาลจ่ายให้ 5,000 บาท ส่วนอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเลยนั้น ก็สามารถไปลงทะเบียนมาตรา 40 ได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ ก็สามารถได้รับเงินเยียวยานี้ด้วยเช่นกัน การจะสมัครมาตรา 40 ต้องเป็นคนที่มีอาชีพ ไม่ใช่แค่อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรเลยก็มาสมัครได้ เพราะจะมีการตรวจสอบต่อไป การได้รับเงินเยียวยานี้ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนอะไรทั้งสิ้น ทางรัฐบาลจะโอนเงินเข้าตามระบบบัญชีที่มีการบันทึกเอาไว้อยู่แล้ว ส่วนจะได้รับการเยียวยาเมื่อไหร่ เท่าที่ตรวจสอบข้อมูล ทางรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เงินจะเข้าสู่ระบบอย่างแน่นอน
โดยผู้ที่จะได้รับการเยียวยาในกลุ่ม ม.33 นั้น หลักการเบื้องต้น กิจการที่ถูกสั่งปิด จะได้รับแน่นอน ส่วนกิจการที่ยังไม่ถูกสั่งปิดจะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเป้าหมายแรกคือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน
สำหรับคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ลูกจ้าง และนายจ้าง (ต้องมีสัญชาติไทย) ต้องไปขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ก่อน ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท โดยทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียนภายในเดือน ก.ค.นี้
ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบถุงเงิน สามารถไปสมัครอยู่ในมาตรา 33 ทั้งผู้ประกอบการก็จะได้รับ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 ราย (ไม่เกิน 200 คน) ส่วนลูกจ้างจะได้รับ 2,500 บาท
ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ทางรัฐบาลเองก็ต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งหมดมีวิธีคิด และกระบวนการอย่างรอบคอบ ไม่สามารถใช้สะเปะสะปะได้ ท่านนายกฯ คำนึงถึงผู้ที่ประสบกับความยากลำบากทุกพื้นที่ แต่ตอนนี้รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนเร่งด่วนก่อน และจะมีการเยียวยาทั่วประเทศแน่นอน แต่จะออกมาในรูปแบบไหนนั้นต้องหารือกันอีกครั้ง ในช่วงแรกอาจจะเยียวยาเดือนเดียวก่อน แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะต้องมีการประเมินเพื่อเยียวยาต่อไปในอนาคต
สำหรับมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟนั้น จะลดให้ทั่วประเทศ โดยให้มีการลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ สค. 2564
–สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
– สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้
หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ. 64 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ. 64 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 หากใช้ 501 – 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 50 และหากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 70 ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม
– สำหรับกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
– สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564
ส่วนค่าน้ำประปา ลดร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ระยะเวลา 2 เดือน (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ สค. 2564 โดยรวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โฆษก ศบศ. ยังเปิดเผยว่า ตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการไปดูแลหาวิธีการเยียวยาเรื่องค่าเล่าเรียน ค่าเทอมแล้ว อาจจะให้รัฐบาลช่วยจ่ายส่วนหนึ่ง หรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่จะต้องรวบรวมมา แล้วจะนำเข้าประชุมภายในสัปดาห์หน้า หลายสิ่งหลายอย่าง ท่านนายกฯ ได้มีการหารือตลอด และบางส่วนก็ได้มีการออกแบบไว้แล้ว แต่ตอนนี้เน้นไปที่การเยียวยาตามพื้นที่ที่เดือดร้อนไปก่อน สำหรับบางจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก ก็อาจจะต้องรอนิดหนึ่ง ผมเข้าใจทุกท่าน เพราะผมเองก็เป็นลูกชาวบ้าน บางครั้งผมก็เห็นว่ามันยุ่งยากเช่นกัน แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลของพี่น้องประชาชนอยู่ใน Big Data หมดแล้ว จากโครงการต่างๆ ที่ทำมา
ผมได้คุยกับท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปิดกิจการ แต่ได้รับผลกระทบ ผมคิดว่าเขาก็ควรจะต้องได้รับการเยียวยาด้วยหรือไม่ ผมเชื่อว่ารัฐบาลก็ต้องมาดูแลส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
สรุปผลโพล คุณพึงพอใจมาตรการแจกเงินเยียวยารอบใหม่หรือไม่?
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com