อาสากู้ภัยแชร์ประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด ช่วยขนย้ายผู้ป่วยโควิดส่ง รพ. ทั้งช่วยขนร่างผู้เสียชีวิตไปฌาปนกิจ ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง เปรียบเสมือนปิดทองหลังพระ ทำด้วยใจไร้ค่าตอบแทน แต่กลับถูกมองด้วยสายตารังเกียจ ยอมรับเจอบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ เข้าใจว่าทุกคนกลัวติดเชื้อ
วันที่ 13 ก.ค.64 นายศิรสิทธิ์ ศิลารักษ์ หรือ เอ้ กู้ภัย 430 เจ้าหน้าที่แผนกบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และ นายปรัชญา จุฬารัตน์ หรือ มายด์ อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จุดสน.บางยี่ขัน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ถกไม่เถียง ทางช่อง7HD ถึงประสบการณ์การทำงานในช่วงวิกฤตโควิด
นายปรัชญา จุฬารัตน์ หรือ มายด์ อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จุดสน.บางยี่ขัน เล่าการทำงานของตนเองให้ฟังว่า เข้ามาเป็นอาสาทำงานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมาประมาณ 15 ปี ทำงานด้วยใจ ไม่ได้รับค่าตอบแทน รอบนี้หนักสุด เพราะการใช้ชีวิตทำหน้าที่ของเรายืนอยู่บนความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าต้องไปพบใครบ้าง คนที่ไปเจอติดเชื้อหรือไม่ เราใช้รถส่วนไปรับ-ส่ง ผู้ป่วยโควิด ติดป้ายชัดเจน เบื้องต้นจะได้รับเคสมาจากศูนย์นเรนทร เป็นคนไข้ที่มีผลตรวจในระบบแล้ว ไปรับคนไข้ตามจุดที่ได้รับมอบหมาย ติดต่อคนไข้ว่าพร้อมหรือยัง ก่อนออกไปรับผู้ป่วย ก็ต้องป้องกันตนเองโดยการใส่ชุด PPE ส่วนรถที่ใช้ในการรับส่งคนไข้ต้องซีลไว้อย่างดี เปิดแอร์ไม่ได้ ตอนที่ไปรับคนไข้ต้องมีการนัดกับทางคนไข้ให้ดีว่าอีกกี่นาทีถึงจะไปถึง เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางคนในบริเวณนั้น เคสที่ไปรับภายในวันเดียวอยู่ที่ประมาณ 7 - 8 เที่ยว รอบนึงก็ประมาณ 3 - 4 คน แล้วแต่เขาจะจ่ายงานมา ทุกวันนี้เที่ยวที่ไปรับก็ยังมีปริมาณเท่าเดิม บางครั้งก็น้อยลงกว่าเดิม เพราะคนไข้หาเตียงได้ยาก แต่คนไข้ก็ยังเยอะเหมือนเดิม เขาต้องรอคิว รอเตียงรักษา เมื่อก่อนคนไข้สามารถเดินขึ้นรถไปรักษาเองได้ แต่ทุกวันนี้กว่าจะได้เตียงคนไข้อาการหนักแล้ว ต้องช่วยหามขึ้นรถไปรักษาแล้ว
ส่วนกรณีโดนรังเกียจ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติ เวลาไปจอดรถซื้อข้าว ก็เจอสายตารังเกียจบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเขาอาจจะกลัวเรื่องการแพร่เชื้อต่างๆ ยอมรับว่าตนเองก็กลัว แต่ก็ต้องป้องกันตนเองให้ดี เพราะถ้าไม่ช่วยกันมันก็จะไม่มีคนมาทำตรงนี้ อยากจะฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแลตัวเองให้ดี เพราะเห็นใจเจ้าหน้าที่ด่านหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก
นายศิรสิทธิ์ ศิลารักษ์ หรือ เอ้ กู้ภัย 430 เจ้าหน้าที่แผนกบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เล่าประสบการณ์การเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิดให้ฟังว่า เจอผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน ยืนพื้นคือ 4 ราย แล้วแต่พื้นที่นั้น ตนเองก็ต้องป้องกันตัวเองแต่งชุด PPE แบบรัดกุมตลอดเวลา เราต้องหาข้อมูลของผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด เพราะเขาไม่สามารถตอบเรากลับมาได้แล้ว ในการเก็บศพผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด-19 เราจะทำการซีล 3 ชั้น และฉีดน้ำยาทับทุกชั้นที่ห่อ แล้วก็ใส่ถุงซิบ หลังจากนั้นก็จะไม่มีการเปิดออกมาอีกแล้วเพื่อความปลอดภัย อย่างเคสที่สะเทือนใจมากๆ คือเมื่อ 3 วันที่แล้ว เราหาข้อมูลของผู้เสียชีวิต เขาบอกว่าเขาเหนื่อยมาก เขาโทรไปหาญาติ ญาติก็บอกว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้ว เลยแจ้งมาให้อาสาเข้าไปช่วยดู สิ่งแรกที่เห็นคือถังออกซิเจนใบใหญ่มาก ซึ่งผู้ป่วยเขาสั่งมาด้วยตัวเอง เขาเสียชีวิตคาสายออกซิเจนเลย มันเป็นภาพที่น่าหดหู่มาก
คุณเอ้ เล่าว่า เคยเจอญาติมาบอกว่า "น้องครับพี่ฝากเผาญาติพี่น้องได้ไหม" ส่วนเอกสารเขาจะทำตามส่งไปที่วัดเอง มันน่าหดหู่ ที่คนที่เรารักเสียชีวิตไป แต่เราไม่สามารถไปส่งศพ หรือไปลาได้เลย เราต้องทำหน้าที่แทนเขาเสมือนเราเป็นญาติของผู้เสียชีวิต พอถึงวัดเราจะฉีดน้ำยาอีกหนึ่งรอบ แล้วก็ยกเข้าเตาเลย ไม่มีการเปิดห่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการได้เห็นหน้าครั้งสุดท้าย มันเป็นอะไรที่เศร้ามาก
คุณเอ้ ยอมรับว่า ครั้งนี้หนักมาก หนักจริงๆ ครั้งแรกๆ เราจะเก็บกู้ร่างที่เสียชีวิตแค่ประมาณ 3 - 4 ราย แต่ตอนนี้ทุกวันวันละ 6 ราย ส่วนเรื่องที่โดนรังเกียจเป็นเรื่องปกติ เพราะเราระบุข้างรถอยู่แล้วว่าเป็นชุดปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด พอเราไปจอดรถเขาก็ออกมาบอกว่า ขอให้ไปจอดที่อื่นได้ไหม ไม่อยากให้จอดตรงนี้ เป็นเรื่องปกติที่เจอได้ทุกวัน ในมุมของคนทำงาน ต้องรับผิดชอบตัวเองก่อน ป้องกันตัวเองก่อน เพราะตอนนี้การระบาดมันหนักมาก การเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิดต่างจากเก็บศพอุบัติเหตุทั่วไป พอเห็นเลือดเราก็ระวังได้ แต่ศพผู้ป่วยโควิดเรามองไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้ว่าสารคัดหลั่งจะไหลออกมาตอนไหน รูปแบบไหน เราพร้อมที่จะช่วยประชาชนทุกคนเสมอ ไม่แบ่งชนชั้น อยากให้พี่น้องให้สังคมเข้าใจเราบ้าง ไม่ต้องกลัวเรา อย่ารังเกียจเราเลยครับ
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com + อ่านเพิ่มเติม