จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีระเบิดภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ซึ่งถังเก็บสารเคมีอันตรายได้เกิดระเบิดกลางดึก แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนโดยรอบ และเนื่องจากสารเคมีที่ถูกไฟไหม้เป็นสารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารอันตรายเมื่อเกิดการเผาไหม้ หากสูดดมจะมีผลต่อร่างกาย ต่อระบบประสาท และก่อมะเร็ง ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ควรแล้วหรือยังที่โรงงานอันตราย ควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง
วันนี้ (6 ก.ค.2564) รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ เปิดใจสัมภาษณ์ ยุทธพฤทธิ์ พูลเกษ หรือ ผู้ใหญ่หน่อย ผู้ใหญ่บ้าน และในฐานะหัวหน้าอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสุวรรณภูมิ , ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และนายกสภาวิศวกร และ ทีมโดรน NOVY วิศวกรช่วยหาวาล์วปิดถังสารเคมี กฤตธัช สาทรานนท์ (แม็ค) , วีระชาติ ค้ำคูณ (วี) ,ธนโชค สิริพัลลภ (หมู) , ณัชพล วุฒิเผ่า (คริส)
นายยุทธพฤทธิ์ พูลเกษ หรือ ผู้ใหญ่หน่อย ผู้ใหญ่บ้าน และในฐานะหัวหน้าอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสุวรรณภูมิ เล่าให้ฟังว่าก่อนได้รับแจ้งเหตุ มีการได้ยินเสียงระเบิด แต่พอมีโทรศัพท์แจ้งมา ก็ไม่ใช่ละจึงได้รีบเข้าไปยังจุดเกิดเหตุ รีบลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บออกมา พื้นที่เกิดเหตุอยู่เขตบางพลี แต่กลับพบว่าพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ตอนไปถึงหน้างานพบว่ามีไฟโหมรุนแรง หน่วยงานในละแวกนั้นได้เข้ามาร่วมปฏิบัติงานทั้งหมด ทุกคนทำงานเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันเสมอ เบื้องต้นยังไม่มีใครบัญชาการ แต่ได้แจ้งทางอำเภอว่ามีเหตุเกิดขึ้น พอผู้ใหญ่ทราบ ก็ได้มีการส่งความช่วยเหลือเข้ามา มีเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนเข้ามาช่วยเหลือกัน ตอนนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บในบริเวณนั้นออกมาก่อน ที่รับมาเป็นคนในโรงงานที่หนีตายออกมา มีบาดแผลถลอก ตามตัวเปรอะไปด้วยเม็ดโฟม ตอนนั้นตกใจมาก เน้นลำเลียงคนเจ็บโดยไม่คิดอะไรเลย และได้ติดต่อไปยังผู้ที่ดูแลโรงงาน เพื่อวางแผนลำเลียงช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บออกมา ซึ่งเท่าที่รู้โรงงานเขามีระบบป้องกัน เพราะทาง อบต. เคยไปตรวจสอบ แต่วันนั้นระบบป้องกันคงไม่ทำงาน ไม่งั้นมันคงไม่เป็นแบบนี้
ผู้ใหญ่หน่อย เผยว่า ตอนนั้นได้รับแจ้งจากผู้จัดการโรงงานว่ามีคนทำงานในคืนนั้น 9 คน แต่มีชาวไต้หวันที่ทำงานที่นี่ติดอยู่ที่นั่นด้วย ผมจึงบอกให้น้องๆ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงขึ้นไปค้นหากัน บริเวณชั้น 2 และผมประเมินแล้วว่าลมมันพัดไปทางอื่น น่าจะปลอดภัย จึงได้เข้าไปร่วมด้วย ตอนนั้นมีเพียงแค่หน้ากากป้องกันตัว แต่พอขึ้นไปก็ได้ยินว่าเจอแล้ว เขานอนอยู่บนเตียง มีแผ่นปูนทับอยู่บริเวณขา ทำให้ไม่สามารถหลุดออกมาได้ ซึ่งเขาติดอยู่ที่นั่นมาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งแล้ว เขายังสามารถพูดคุยได้ถามตอบรู้เรื่อง เราเลยรีบเอาเครื่องตัดถ่างเข้าไปช่วย
สำหรับอุปสรรคในการดับเพลิงโรงงานสารเคมีครั้งนี้นั้น การที่จะเอาโฟมไปดับไฟ เมื่อเกิดฝนตกหนัก มันจะทำให้โฟมหายไป ทำให้ไฟไม่สามารถดับได้ ดังนั้น ตอนนี้การทำงานควรจะเป็นแบบบูรณาการที่ใครเก่งด้านไหนก็เข้ามาช่วยเหลือกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่พัฒนามาล้วนทำให้การทำงานปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จริงๆ แล้วงานนี้ ทางอบต. กับผมเราทำงานร่วมกันเสมอ เหมือนเป็นพี่เป็นน้อง แต่พอเหตุการณ์ออกไปตามสื่อออนไลน์ จึงทำให้มีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือมากมาย และมีการเรียกประชุมทั้งหมด แบ่งงานกันว่าใครจะทำอะไรบ้าง เพราะมันใช้ระยะเวลาในการทำงานหลายชั่วโมง
ส่วนเรื่องที่ว่ามีโรงงานลักษณะนี้ในพื้นที่อีกหรือไม่ ผู้ใหญ่หน่อย บอกว่า ที่ผมตกใจก็คือ มีสายหนึ่งโทรเข้ามา บอกว่าให้นำทีมไปฉีดพ่นละอองน้ำป้องกันเหตุไฟไหม้ที่โรงงานเขาหน่อย โดยให้เหตุผลว่า บริษัทของเขาถ้าเกิดระเบิดขึ้นมา ความเสียหายมันจะกินพื้นที่ถึง 15 กม. และโรงงานเขาอยู่ห่างจากจุดนั้นแค่ 400 เมตร ตอนที่ระเบิดทีแรก ผลกระทบที่ประชาชนได้รับอาจจะแค่กระจกแตก แต่คราวนี้ถ้ามันระเบิดขึ้นมาอีกจริงๆ เปลวเพลิงมันก็จะติดลามไปด้วย สิ่งแรกที่ผมอยากให้ทางเขตพื้นที่ทำในตอนนี้เลยก็คือ จัดสรรงบมาส่วนหนึ่งเพื่อมาเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย หลายคนยากลำบากอยู่แล้วในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ยิ่งมาโดนแบบนี้อีกเหมือนยิ่งถูกซ้ำเติมเข้าไปอีก
ผู้ใหญ่หน่อย ยืนยันว่า มีหน่วยงานของรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือ "จริงๆ แล้วทางอบต. ทั้ง 6 อบต. ในเขตนี้มีประสิทธิภาพทั้งหมด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่หนักหนาจริงๆ ก็จะมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือมากมาย ส่วนทหารมาในตอนหลัง เริ่มแรกมาจาก กทม. ก่อน พอ กทม. เริ่มไม่ไหว ทางทหารจึงเข้ามาต่อ ต้องขอขอบคุณมากจริงๆ ครับ"
นอกจากอาสาดับเพลิงที่ถือเป็นฮีไร่เสียสละหน้างานแล้ว ยังมีอีกทีมที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญ นั่นคือ หนึ่งในโคฟาวเดอร์ ผู้ก่อตั้ง Novy โดรน วิศวกรช่วยหาวาล์วปิดถังสารเคมี ที่มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ได้แก่ กฤตธัช สาทรานนท์ (แม็ค) , วีระชาติ ค้ำคูณ (วี) ,ธนโชค สิริพัลลภ (หมู) และ ณัชพล วุฒิเผ่า (คริส) พวกเขาเล่าให้ฟังว่า วันนั้นได้รับการประสานงานจากศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี และได้ทำการวางแผนร่วมกับ DSI และส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กับนายกรัฐมนตรี ว่าจะปฏิบัติการอย่างไร พร้อมทำการขออนุญาตการบิน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน พอเราไปถึงหน้างาน แปปเดียวเจ้าหน้าที่ก็เรียกให้ไปที่หน้าจุดที่เพลิงปะทุ พร้อมได้รับมอบภารกิจให้เป็นแนวหน้าสุดในการค้นหาวาล์ว ของถังสารเคมี โดยมี วิน และ คริส รับหน้าที่บิน หรือ ควบคุมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน โดยมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย มีการวางแผนหาจุดที่จะให้โดรนบินขึ้น ซึ่งโดรนตัวที่เราใช้ ถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถมองเห็นได้มากกว่า โดรนทั่วไป ซึ่งทางทีม Novy เคยทำและพัฒนาโดรนที่ใช้สำหรับการดับเพลิงมามากว่า 2 ปีแล้ว และกำลังพยายามแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของมันอยู่เรื่อยๆ
ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ เรียกได้ว่าไร้ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันใดๆ สำหรับการทำงานที่ค่อนข้างเสี่ยงและต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว แต่เราก็ต้องรีบเข้าไปเพื่อหาจุดวาล์วให้เจออย่างรวดเร็วที่สุด จะได้แก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เพราะจุดประสงค์หลักของเราคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เราพยายามแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยเซฟชีวิตและทรัพย์สินได้ เพราะตรงนั้นเราสัมผัสได้จริงๆ ว่าทุกคนเข้าไปด้วยใจหลังลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพียงไม่กี่ชั่วโมง เราก็ค้นหาจุดปิดวาล์วเจอ ซึ่งระหว่างทำงานก็จะมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตลอด เราจะคอยบอกว่าจุดไหนจัดการได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไปประสานให้ทำการฉีดโฟมเข้าไป จนในที่สุดก็สามารถปิดวาล์วนั้นได้สำเร็จ
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และนายกสภาวิศวกร เผยกรณีโรงงานกิ่งแก้วระเบิด ฝนที่ตกลงมาอาจจะช่วยเรื่องลดความร้อน แต่ว่าเมื่อถูกเผาไปกว่า 24 ชั่วโมงแล้ว มันมีความร้อนสะสมอยู่ และพร้อมที่จะปะทุเสมอ แถมในโรงงานยังมีสารเคมีที่ไวไฟมาก การที่มันปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เขตนี้ยังเป็นเขตภัยพิบัติรุนแรง การเข้าไปยังต้องใช้ความระมัดระวังสูงสุด อีกทั้งในพื้นที่ยังมีสารไวไฟสูงสุดอีก ทำให้มันสามารถเกิดการปะทุอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้ สารเคมีที่ใช้ทำพลาสติกมันสามารถลอยมากับน้ำได้ดังนั้น ไฟมันสามารถลอยมากับน้ำได้เลย เพราะฉะนั้นการจัดการต้องจัดการอย่างมีความรู้ ซึ่งจากรายงานโรงงานนี้มีกำลังผลิตประมาณ 36,000 ตัน ต่อปี ซึ่งหมายความว่ามีสารไวไฟจำนวนมาก ถ้ามีสารไวไฟอยู่ก็ยังคงเป็นเขตภัยภิบัติอยู่เสมอ
ดังนั้น อันดับแรก โรงงานไม่ควรจะระเบิดตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน คนรับผิดชอบคนแรกคือเจ้าของโรงงาน อันดับที่ 2 คือการบรรเทาสาธารณภัย เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือ บางทีความกล้าหาญอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความสูญเสียได้ ในวันนี้หน่วยงานทั้งหมดควรจะรู้เลยว่ามีโรงงานอะไรบ้าง ถ้าเป็นโรงงานสารเคมี ควรรู้เลยว่ามีระเบิดอยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นควรมีอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม ไม่ใช่แค่หน่วยงานเท่านั้น แต่เป็นตัวโรงงานด้วย ที่จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมด้วยเช่นกัน อย่างกรณีในต่างประเทศ โรงงานมาก่อนชุมชนเสมอ แต่รัฐฯสามารถจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดดันอย่างสุภาพชน นั่นคือการตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือไม่ก็ย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม แต่รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกและมีมาตรการช่วยเหลือด้วย
นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คปภ. เผยถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า ในทางด้านทุนประกัน ทางโรงงานทำไว้ 3 กรมธรรม์ อันแรกคุ้มครองไว้ 300 กว่าล้านบาท อีกอันจะคุ้มครองถังแรงดัน หม้อน้ำอีก 21 ล้านบาท ส่วนกรมธรรม์ที่คุ้มครองบุคคลภายนอกมีอยู่แค่ 20 ล้านบาท ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อการเยียวยส ถ้าใครที่ได้รับความเสียหายหรือความเดือดร้อนก็สามารถแจ้งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ แต่ถ้าบ้านหลังไหนไม่ได้ทำประกันเอาไว้ ก็ขอให้เก็บหลักฐาน ถ่ายรูปเอาไว้ แล้วไปแจ้งที่ศูนย์รับแจ้งเหตุที่อยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุได้เลย ซึ่งอาจจะฟ้องทางแพ่งได้ในอนาคต ถ้าท่านไหนที่บ้าน หรือรถยนต์มีการทำประกันเอาไว้ ก็สามารถยื่นเคลมกับบริษัทประกันภัยได้เลย ในส่วนนี้ในกรมธรรม์คุ้มครองอย่างแน่นอน ถ้าเรียกร้องจากกรมธรรม์ของท่านเพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องจากกรมธรรม์ของบริษัทเพิ่มเติม เบื้องต้นทางโรงงานจะต้องสำรวจความเสียหาย หากมันเกินจากที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ก็จะต้องเฉลี่ยการชดใช้ค่าเสียหายกันไป
สรุปผลโพล ภาครัฐรับมือเหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ได้ดีหรือไม่?
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com