DGA จับมือ 56 อปท.ต่อจิ๊กซอว์สู่ “องค์กรดิจิทัลท้องถิ่น” ทั่วประเทศด้วย “ระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ใน 27 จังหวัด 4 ภูมิภาค
logo ข่าวอัพเดท

DGA จับมือ 56 อปท.ต่อจิ๊กซอว์สู่ “องค์กรดิจิทัลท้องถิ่น” ทั่วประเทศด้วย “ระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ใน 27 จังหวัด 4 ภูมิภาค

773 ครั้ง
|
05 ก.ค. 2564

        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เร่งขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเชิงรุก รับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 จัดพิธีลงนาม MOU ร่วมดำเนินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ด้วย“ระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”เพื่อสนับสนุนการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล มุ่งสู่ “องค์กรดิจิทัลท้องถิ่น” ใน 27 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ

 

      นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 4 ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลปี พ.ศ. 2563-2565 จากนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสนับสนุนด้านพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานในด้านการให้บริการประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลากหลายมิติ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด หน่วยงานรัฐจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันวางแผน และพัฒนาการดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกได้

        ดังนั้น สพร. ในฐานะหน่วยงานกลางรัฐบาลดิจิทัลที่มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการขับเคลื่อนหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับ เทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากสามารถพัฒนาระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนใช้ภายในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดขั้นตอนการทำงานภายในเทศบาล สามารถให้บริการได้อย่างฉับไว ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี สพร. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนเพื่อเผยแพร่ระบบดังกล่าวฯ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐให้สามารถพัฒนาศักยภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงได้เดินหน้าโครงการนี้กับหน่วยงาน อปท. ทั่วประเทศทั้ง 56 แห่ง เพื่อสร้างจิ๊กซอว์ภาพใหญ่มุ่งสู่องค์กรท้องถิ่นดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน รวมถึงสนับสนุนระบบการทำงานให้มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานของรัฐได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการ มีข้อมูลที่เปิดเผย โปร่งใสและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้ เป็นไปตามหลักการที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

       ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า สพร. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษานวัตกรรม และองค์ความรู้ นำมาพัฒนาเป็นต้นแบบของโครงการวิจัยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บริการกับภาครัฐ โดยมุ่งหวังให้เกิดการใช้งานเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้รับบริการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ สพร. จึงได้ร่วมกับ เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจ เข้าร่วมเป็นกลุ่มนำร่องเพื่อใช้งาน “ระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ไปใช้ประโยชน์ภายในสำนักงานและให้บริการประชาชน ประกอบด้วย 5 ระบบ ได้แก่

  1. ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS)
  2. ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Office)
  3. ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ (สำหรับพื้นที่ 150 ตร.ม.)
  4. ระบบออกหนังสือรับรองการแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารออนไลน์
  5. ระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์

       สำหรับโครงการในระยะแรก (เฟสที่ 1) มีหน่วยงานอปท.ที่เข้าร่วม 56 อปท. ในพื้นที่ 27 จังหวัด 4 ภูมิภาค โดย สพร. และ เทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้จัดอบรมโดยแบ่งกลุ่ม อปท.ผู้เข้าร่วมเป็น 2 รุ่น ซึ่งได้จัดอบรมทั้ง 2 รุ่นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 10-11 มิถุนายน และ 24-25 มิถุนายน ตามลำดับ เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในระบบการใช้งาน พร้อมทั้งให้ 56 อปท.ได้ทดสอบการใช้งานจริงกับการทำงานภายในสำนักงานและการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับระบบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 31 สิงหาคม 2564 โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดระบบอย่างเป็นทางการและให้บริการจริงกับประชาชนในพื้นที่บริการของหน่วยงานภายในเดือน กันยายน 2564 เป็นต้นไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง