ตอนอวสานของกกกอกเดอะซีรีส์มาถึงแล้ว จากคดีเด็กหาย ตามหาคนร้าย ไปๆมาๆกลายเป็นซุปตาร์บ้านนา จนผู้คนลืมเลือนเรื่องควานหาตัวคนร้ายไปชั่วขณะ โดย 1 ปี ไม่รู้เสียทีใครฆ่าน้องชมพู่ กระทั่งนำมาสู่การออกหมายจับลุงพล ที่มาพร้อมหมัดเด็ดน็อกลุงพล แต่จะคว่ำลุงพลได้สำเร็จหรือไม่?
วันนี้ (2 มิ.ย.2564) รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ได้เชิญ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต มาพูดคุยกันในประด็นนี้
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เผยเกี่ยวกับคดีน้องชมพู่ว่า โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าเป็นฝีมือลุงพล เพราะว่าเราเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยพื้นฐานว่า น้องถูกทำให้ตาย ถูกล่วงละเมิด แต่พอสืบสวนแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย ก็เลยเบี่ยงประเด็นไปว่าน้องถูกพาขึ้นไปบนภูเหล็กไฟแล้วเสียชีวิตแทน ซึ่งผมได้ลองไปเดินในสถานที่จริงแล้ว มันเดินยากแต่เดินได้ เราเดินไปรวดเดียวถึงคิดกันว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่น้องอาจจะเดินๆ หยุดๆ หลายวัน อาจจะพลัดหลงหรืออะไรก็ได้ ซึ่งตอนนี้มันไม่ได้ชัดเจน 100% ว่ามีคนพาน้องชมพู่ขึ้นไปแล้วทำให้ตาย แล้วก็โยงมาที่ลุงพลว่าเป็นคนใกล้ชิดแล้วพาขึ้นไป ซึ่งหากเป็นการเจตนาพาขึ้นไปปล่อยจริง มันจะเป็นการฆาตกรรม เพราะมันเล็งเห็นผล เด็กอายุแค่นั้น ถ้าอดน้ำอดอาหาร ก็สามารถตายได้ ดังนั้นถ้าลุงพลคือคนร้าย ตร.ต้องตั้งข้อหาเจตนาฆ่า แต่นี่ไม่มี
โดยกฎหมายแล้วคดีโทษจำคุกเกิน 3 ปีขึ้นไป ตำรวจสามารถออกหมายจับได้เลย ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียก แต่ถ้าเรามองในแง่ของความยุติธรรม ถ้าออกหมายเรียก ผมคิดว่ายังไงลุงพลก็มา การจับกุมแบบนี้ เหมือนกับเป็นการต้องการทำลายภาพลักษณ์ของผู้ต้องหา และลดทอนขีดจำกัดในการต่อสู้คดีของเขา ส่วนเรื่องเส้นผมที่หล่นอยู่ในที่เกิดเหตุก็เป็นไปได้ที่จะเป็นผมของลุงพล เพราะแกก็เดินขึ้นลงแถวนั้นอยู่บ่อยๆ จะไปบอกว่าเขาทำผิดเพราะเขาพูดไม่ตรงกัน มันก็ไม่ใช่เสมอไป คนเราถ้าพูดความจริงสั้นๆ ถามกี่ครั้งก็ตอบได้ แต่ถ้าเป็นความจริงที่ซับซ้อน ถ้าโดนถามบ่อยๆ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ เราก็ไม่รู้ว่าลุงพลเขาโดนถามมากี่ครั้ง ผมคิดว่าหลักฐานแค่เส้นผมที่ตกลงในที่เกิดเหตุ มันไม่พอ ลองเป็นเรา ถ้าเราถูกทำอย่างนี้จะทำอย่างไร ด้วยหลักฐานแค่นี้ ถ้ามีหลักฐานก็ว่ากันไปเลย นี่สืบกันมาปีกว่าแล้ว ถ้ามันใช่ก็ว่ากันไปเลย ถ้าเป็นคนพาน้องขึ้นไปแล้วปล่อยให้ตาย ก็ควรจะแจ้งข้อหาฆาตกรรมโดยเจตนา เป็นเจตนาที่เล็งเห็นผล เรื่องนี้เมื่อมันไม่ได้เป็นการทำร้าย พอเราไปสรุปว่าน้องไม่สามารถเดินขึ้นไปได้ เราก็วนไปกับการหาผู้ร้าย ซึ่งก็วนอยู่กับลุงพลมาโดยตลอด ผมไม่ได้อคติกับตำรวจ แต่ถ้าลุงพลทำผิดจริง ผมจะมาช่วยเขาทำไม เป็นความเข้าใจผิดของสังคมที่ว่า เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว คุณคือผู้กระทำผิด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่
ถ้าออกหมายจับตำรวจจะมีสิทธิในการคัดค้านการประกันตัว แต่ถ้าเป็นการมอบตัว ตำรวจไม่สามารถคัดค้านการประกันตัวได้ แม้แต่ใส่กุญแจมือก็ทำไม่ได้ ผมไม่ได้มาแก้ต่างว่าเขาไม่ได้ทำผิดนะ แต่ถ้าเป็นหมายจับก็ควรทำให้มันหนักแน่นตามกระบวนการ ถ้าผิดจริงก็ต้องว่าไปตามผิด ทำอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ถ้าคุณเป็นญาติพี่น้องเขาคุณก็ต้องอยากรู้ว่าหลักฐานมีอะไรบ้าง จะได้เอาไปสู้คดีได้ ผมต้องการให้สังคมมันดี ผมไม่ได้ยืนยันว่าเขาเป็นคนดี ในทัศนะของผม ผมลงพื้นที่ไปเพื่ออยากจะดูภูมิประเทศ ก็ได้เห็นและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่ามันสามารถเดินขึ้นไปได้ไหม เขาก็ตอบว่าเป็นไปได้ แต่มันยาก แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องรอศาลเป็นผู้ตัดสิน
ทางด้าน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต เห็นต่างกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ โดย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ เผยว่า เราไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ในสิ่งที่ตำรวจทำ ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล, หลักฐาน และพยานแวดล้อม ถ้าถามว่าน้องชมพู่ขึ้นไปหรือไม่ ตำรวจก็ได้ไปสอบถามนักโภชนาการว่า อาหารมื้อสุดท้ายที่น้องทานไป เพียงพอที่จะให้น้องขึ้นไปหรือไม่ การเดินขึ้นไปนั้นมันเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราพูดกันอยู่มันไม่มีใครเห็น แต่ตำรวจสามารถสันนิษฐานออกมาได้ตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ การตรวจไมโทคอนเดรีย เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญคนไหนตรวจก็ได้ผลเหมือนกัน แต่จะตรวจในประเทศไทยหรือไม่นั้น ต้องถามผู้เชี่ยวชาญ
จริง ๆ แล้วหากเราสังเกตในคดีอาชญากรรมทั่วไปทั้งในไทยและต่างประเทศ เราแบ่งคนร้ายเป็น 2 ประเภท แบบแรกคือหลบหนีหลังจากก่อเหตุเลย แบบที่ 2 คือ ก่อเหตุแล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กรณีลุงพล อาจจะเป็นกรณีที่ 2 การสืบสวนของตำรวจ เขาไม่ได้ดูว่าคุณหนีหรือไม่หนี เขาดูที่พยาน และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในการสืบหาความจริง เวลาคนเราพูดความจริง ถ้าไปถามกี่ครั้ง สิ่งที่พูดออกมาก็จะเป็นความจริง หลักๆ ที่พูดมาก่อนก็จะจำได้ แต่คนที่พูดไม่จริง ถ้าเป็นการสร้างเรื่องราว วันต่อไปก็ต้องสร้างเรื่องราวอย่างอื่นเข้าไปอีก เพื่อยืนยันให้คนอื่นเชื่อว่าเขาพูดความจริง ถ้าคนพูดไม่จริงเวลาเข้าเครื่องจับเท็จ นักจิตวิทยาก็จะไล่ถามทีละประเด็น และสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานร่วมได้
ทางรายการ ถกไม่เถียง ยังได้ติดต่อไปยัง นายจิรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา มือปราบสัมภเวสี อดีตคนใกล้ชิดลุงพล โดยหมอปลาไม่เชื่อว่ามีคนร้ายคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้เลยว่ามีคนเดียว เพราะเขาไม่เหลือร่องรอยหลักฐานเอาไว้เลย เหมือนมีเตรียมการมาเป็นอย่างดี ซึ่งผมเคยถามลุงพลว่า ถ้าวันนึงหวยมาลงที่ลุงพลจะทำยังไง เขาก็บอกว่า ผมจะแฉให้หมด ผมก็รอดูอยู่ว่าเขาจะแฉจริงไหม ส่วนเรื่องเขาจะสารภาพไหม ผมว่ายาก ขนาดตอนทุบหลังนักข่าว เขายังบอกว่าเป็นการทักทายเลย ผมคิดว่าล้านเปอร์เซนต์เด็กขึ้นไปบนภูเขาเองไม่ได้ ผมเดินขึ้นไปผมยังหอบแดกเลยครับ
นอกจากนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังได้ติดต่อไปยัง พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจํานงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามข้อมูลความคืบหน้าของคดี โดยทาง พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจํานงค์ ให้ข้อมูลว่า สำหรับคดีนี้ ผมจะใช้คำพูดว่า น้องชมพู่ ถูกทำให้ตาย มันแตกต่างจากการฆาตกรรม แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ผมก็จับผู้ดำเนินรายการไปขัง ให้อดข้าวอดน้ำ ถูกปล่อยให้ตาย แบบนี้คือการถูกทำให้ตาย ส่วนการปฏิเสธเป็นสิทธิของผู้ต้องหา การสืบสวนก็ดำเนินการไปเรื่อยๆ เมื่อครบเวลาก็จะนำตัวไปฝากขังที่ศาล ส่วนจะคัดค้านการประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน
สรุปโพล คุณคิดว่า 'ลุงพล' คือคนร้ายคดีน้องชมพู่ ใช่หรือไม่?
ทั้งนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น รับสิทธิพิเศษจากผู้สนับสนุนและพันธมิตรได้ทุกตอนผ่าน TERO Digital ได้ที่
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com