จากกรณีประชาชนมีความกังวลกับโรงพยาบาลสนามที่ใช้รักษาและกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้เกิดการไม่อยากมาโรงพยาบาลสนาม เพราะกลัวว่าจะไม่สะดวกสบาย หรือได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ จนบางคนเลือกที่จะกักตัวเองอยู่บ้าน จนก่อให้เกิดความเสี่ยงในการควบคุมการกระจายของเชื้อโรค
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แค่ศักยภาพของโรงพยาบาลอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมา ซึ่งโรงพยาบาลสนามไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น เพราะเป็นสถานที่ที่สามารถรวมผู้ติดเชื้อมาอยู่ด้วยกันได้ในพื้นที่โล่งโปร่ง ระบายอากาศได้ดี และทำให้แพทย์สามารถดูแลรักษาได้ง่าย การไปโรงพยาบาลสนามก็เหมือนการไปเข้าค่าย ทุกคนให้ความร่วมมือ ต้องเข้าใจว่า เราเป็นผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ไปเที่ยว ความสะดวกสบายอาจจะไม่มากนัก คิดว่าเป็นการไปเข้าค่าย เพื่อพบปะผู้คนใหม่ ๆ และได้รักษาตัว มีการไปทำกิจกรรม ออกกำลังกายด้วยกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน ทั้งคนรวย คนจน ทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้น
โรงพยาบาลสนาม มีกิจวัตรประจำวันอะไรบ้าง มีการจัดการอย่างไร?
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามว่า สำหรับคนที่ถูกส่งไปโรงพยาบาลสนาม จะเป็นคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย โรงพยาบาลสนามมีวัตถุประสงค์คือตัดวงจรระบาดของเชื้อ กับดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้นใครที่ไปอยู่โรงพยาบาลสนาม มีสิ่งที่ต้องทำ 8 เรื่อง คือ
1 ต้องประเมินสุขภาพตัวเองทุกวัน เช่น วัดไข้ วัดสัญญาณชีพ วัดระดับค่าออกซิเจนในเลือด
2 ดูแลสุขอนามัยของตนเอง
3 การควบคุมอาหารการกิน อาหารการกินต้องสะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่า เพราะหากไม่มีการควบคุมให้ดี อาจก่อให้เกิดโรคอื่นตามมา
4 มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เพราะผู้ป่วยถูกส่งไปอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด หากไม่มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมก็จะมีปัญหา
5 จัดการด้านโภชนาการ เพราะถ้าหากอ้วนมาก มีโอกาสที่โรคจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
6 เตรียมความพร้อม เพราะตัวโควิด-19 ที่อันตรายคือเชื้อลงปอด สิ่งหนึ่งที่เราต้องจัดให้มีกิจกรรมคือ การฝึกขยายปอด ฝึกกล้ามเนื้อให้หายใจ
7 การจัดการความเครียด เพราะคนติดเชื้อมักเกิดความเครียด
8 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับลึกจะช่วยเสริมภูมิต้านทาน
ซึ่งเราจะนำทั้ง 8 กิจกรรมนั้นมาเรียงเป็นตารางทั้งวัน ว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ตั้งแต่เช้าตื่นมา ต้องอาบน้ำชำระล้างกายให้ดี และเริ่มด้วยการวัดสัญญาณชีพ ถัดมาก็รับประทานอาหาร ที่ต้องได้รับการควบคุม ซึ่งญาติพี่น้องผู้ป่วยไม่สามารถเอาอาหารมาเยี่ยมได้ เพราะอาจทำให้เกิดความแตกต่าง หรือทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารขึ้นมาได้
สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม หากมีอาการเพิ่มขึ้น แพทย์ พยาบาล จะรีบนำส่งโรงพยาบาล สิ่งหนึ่งที่ในโรงพยาบาลสนามจะทำคือการตรวจเอ็กซเรย์ การประเมินร่างกาย หากมีการพร่องออกซิเจน แสดงว่าอาจมีภาวะเชื้อลงปอด แม้ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการใดๆก็ตาม ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com + อ่านเพิ่มเติม