“โควิด-19 ระลอกนี้” คือ มหาวิกฤติที่โหมกระหน่ำแพร่กระจายเชื้อร้ายออกไปทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่บ้าน ที่ทำงาน ตลาด รถเมล์ โรงงาน สารพัดสถานที่ และนับวันสถานการณ์ยิ่งแย่ลง “ประชาชน” ล้วนแต่เผชิญ “ความเครียดกังวล” “หวาดระแวงคนรอบตัว” ซ้ำร้าย โควิดระลอกนี้ยังไม่มีท่าทีจะยุติในช่วงเวลาอันใกล้ และไม่มีใครหยั่งรู้ได้เลยว่า ฝันร้ายครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด…
วันนี้ (27 พ.ค.2564) รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ได้เชิญ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย มาพูดคุยกัน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ติดจากคนสู่คน การที่จะให้เขากักตัวอยู่บ้านอาจมีปัญหา ต้องพาตัวเข้าสู่การรักษาเพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ถ้าไม่มีอาการก็ให้ไปโรงพยาบาลสนาม หรือ ถ้ามีอาการน้อยก็ส่งไป Hospitel แต่ถ้าอาการหนักก็ต้องเข้าดูแลใน ICU ที่โรงพยาบาล สำหรับคนที่พบว่าตัวเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน เพื่อรอผลตรวจ หรือถ้าทราบผลตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ ก็ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อรอดูอาการเช่นกัน
สำหรับ โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แค่ศักยภาพของโรงพยาบาลอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมา ซึ่งโรงพยาบาลสนามไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น เพราะเป็นสถานที่ที่สามารถรวมผู้ติดเชื้อมาอยู่ด้วยกันได้ในพื้นที่โล่งโปร่ง ระบายอากาศได้ดี และทำให้แพทย์สามารถดูแลรักษาได้ง่าย อย่างโรงพยาบาลสนามในต่างจังหวัด จะเหมือนการไปเข้าค่าย ทุกคนให้ความร่วมมือ ต้องเข้าใจว่า เราเป็นผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ไปเที่ยว ความสะดวกสบายอาจจะไม่มากนัก คิดว่าเป็นการไปเข้าค่าย เพื่อพบปะผู้คนใหม่ ๆ และได้รักษาตัว มีการไปทำกิจกรรม ออกกำลังกายด้วยกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน ทั้งคนรวย คนจน ทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้น พอหายป่วยเขาก็มีการขอบคุณพยาบาล สร้างความทรงจำที่ดี
นายสาธิต ปิตุเตชะ พูดถึงการกักตัวที่บ้านด้วยว่า เรามีแผนจำลองถ้ามีผู้ติดเชื้อมากขึ้น จำนวนเตียงไม่เพียงพอ เรามีแนวทาง กักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) ที่ออกแบบเอาไว้แล้ว แต่กรณีนี้ยังมีจุดอ่อนบางส่วน หากถึงจุดที่ต้องใช้วิธีการนี้ เราก็มีแผนรองรับอยู่แล้ว ส่วนเรื่องหากพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน ผู้ประกอบการสามารถสั่งปิดโรงงานของตัวเองได้ แต่ก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบตามมาตรการที่ถูกต้อง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของผู้ติดเชื้อ และเล่าถึงกิจกรรมในโรงพยาบาลสนามให้ฟังว่า เบื้องต้น เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่าเราติดเชื้อแล้วหรือยัง หรือเราแค่มีความเสี่ยง ถ้าเราสัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อคือเรามีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเราสัมผัสห่างๆ คือมีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าเราไปสัมผัสคนที่ไปสัมผัสผู้ติดเชื้ออีกที คือเราไม่มีความเสี่ยง หรือ ถ้าเราไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้เราเฝ้าระวังตัวเอง ยังคงไปไหนมาไหนได้ แต่เราต้องเข้มเรื่องการป้องกันให้เคร่งครัด ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และลดการติดต่อกับผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตามถ้ารู้ตัวว่าเสี่ยง ก็ควรไปตรวจ
สำหรับคนที่ถูกส่งไปโรงพยาบาลสนาม จะเป็นคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย โรงพยาบาลสนามมีวัตถุประสงค์คือตัดวงจรระบาดของเชื้อ กับดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้นใครที่ไปอยู่โรงพยาบาลสนาม มีสิ่งที่ต้องทำ 8 เรื่อง คือ 1 ประเมินสุขภาพ วัดไข้ วัดสัญญาณชีพ วัดระดับค่าออกซิเจนในเลือด 2 ดูสุขอนามัย 3 การควบคุมอาหารการกิน 4 มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม 5 จัดการด้านโภชนาการ 6 เตรียมความพร้อม ฝึกขยายปอด ฝึกกล้ามเนื้อ 7 การจัดการความเครียด และ 8 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งเราจะนำทั้ง 8 กิจกรรมนั้นมาเรียงเป็นตารางทั้งวัน ว่าต้องทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ในโรงพยาบาลสนาม ต้องมีการควบคุมเรื่องการรับประทานอาหาร ญาติพี่น้องไม่สามารถเอาอาหารมาเยี่ยมได้ เพราะอาจทำให้เกิดความแตกต่าง หรือทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารขึ้นมาได้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ถ้าผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามมีอาการเพิ่มขึ้น แพทย์ พยาบาล จะรีบนำส่งโรงพยาบาล สิ่งหนึ่งที่ในโรงพยาบาลสนามจะทำคือการตรวจเอ็กซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่อง ประเมินร่างกาย หากมีการพร่องออกซิเจน แสดงว่าอาจมีภาวะเชื้อลงปอด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
ส่วนประเด็นที่ว่าหากพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน นพ.สุวรรณชัย เผยว่า ตามปกติแล้ว ถ้าโรงงานไหนเจอผู้ติดเชื้อ โรงงานจะต้องมีแผนงานรองรับเตรียมพร้อมเอาไว้ ถ้าเกิดรัฐพิจารณาแล้วว่าโรงงานนั้นมีความเสี่ยง ก็สามารถแจ้งปิดโรงงานนั้นได้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการ เหตุผลเพราะต้องการลดการเคลื่อนย้ายของแรงงาน, ลดอาการแออัด และนำแรงงานไปตรวจค้นหาเชื้อต่อไป ในบางกลุ่มของโรงงาน พนักงานมีที่พักอยู่ในโรงงาน เขาจะต้องทำตัวเองเหมือนกับอยู่ในฟองอากาศตลอดเวลา เวลาเดินทางออกไปภายนอกจะต้องไม่ไปสัมผัสกับใคร โรคนี้มันบอกอยู่แล้ว ว่าเป็นโรคที่ติดและต่อ มันเกิดจากการที่คนสัมผัสกัน ถ้าลดการติดต่อพบเจอก็จะลดไปได้แล้วครึ่งหนึ่ง ยิ่งถ้าลดการเดินทางเคลื่อนย้ายก็จะสามารถลดได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นต้องใช้มาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการทางสังคมควบคู่กัน
นอกจากนี้ ทางรายการ ถกไม่เถียง ยังได้ติดต่อไปยัง นายจิรวัฒน์ จีระดีพลัง ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการ ร่วมพูดคุยกันถึงมาตรการที่ทาง ฟอร์ด ประเทศไทย ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงของพนักงานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนายจิรวัฒน์ จีระดีพลัง เผยว่า "ทาง ฟอร์ด ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน เราดูแลพนักงานทุกคนเหมือนคนในครอบครัว เริ่มตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านจนถึงช่วงเวลาทำงาน นอกจากจะปฏิบัติงานตามมาตรการรัฐอย่างเคร่งครัดแล้ว เรายังมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมคือ ให้พนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตทำงานที่บ้าน มีการให้ความรู้กับพนักงาน มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับพนักงานทุกวัน เว้นระยะห่างในห้องประชุม โรงอาหาร และรถรับส่ง ให้ลูกจ้าง พนักงาน สหภาพแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะมาตรการป้องกันเพิ่มเติม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราสร้างความเชื่อใจให้กับพนักงาน ทุกๆวันพนักงานต้องประเมินความพร้อมในออนไลน์ก่อนว่าอาการของตัวเองเป็นอย่างไร ถ้ามีอาการ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ให้แจ้งหัวหน้างานแล้วไม่ต้องมาทำงาน ต้องไปพบแพทย์ โดยที่ทางบริษัทจะไม่ถือเป็นวันลา ไม่มีการหักเงินเดือน และยังคงให้เบี้ยขยันเต็มจำนวนเหมือนเดิม"
ส่วนประเด็นการเกิดการระบาดในรูปแบบคลัสเตอร์ตามพื้นที่ต่างๆ และมาตรการการรับมือนั้น
นายสาธิต ปิตุเตชะ เผยว่า มาตรการหลักในการป้องกันรับมือคลัสเตอร์คือการลดกิจกรรมการเจอกัน นอกจากนั้นต้องมีความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ส่วนมาตรการในการแก้ไขก็เป็นระบบของกรมควบคุมโรค ซึ่งที่ผ่านมาทั้งหมด ก็มีความแตกต่างในแต่ละคลัสเตอร์ เช่น คลัสเตอร์ชุมชนคลองเตย จะใกล้เคียงกับสมุทรสาคร มีนโยบายในการซีลบับเบิล สำคัญเลยคือห้ามเข้า-ออกแม้แต่คนเดียว ที่สมุทรสาครเราอาจจะทำได้ แต่คลองเตยจะมีความต่าง เราไม่สามารถกันคน 60,000-70,000 คน ได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงต้องเอาคนที่มีความเสี่ยงออกมา แล้วมีการฉีดวัคซีนในชุมชน ส่วนคลัสเตอร์ในเรือนจำยังดีเพราะมันมีรั้วรอบขอบชิด คนที่มีอาการหนักก็ส่งเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนคนอาการไม่เยอะ ก็เข้าโรงพยาบาลสนามในเรือนจำ ซึ่งนโยบายการควบคุมโรค ซึ่งการจัดการเพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อในคลัสเตอร์ต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับการร่วมมือของประชาชน และมาตรการของรัฐบาล และเราจะพบว่าผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่แสดงอาการมีจำนวนมาก การตรวจเชิงรุกจึงจำเป็นมาก เพื่อที่จะดึงคนที่ติดเชื้อออกมาแล้วนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา การตรวจเชื้อเชิงรุกจึงมีความสำคัญ เราจะพบว่าผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการ เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาติดเชื้อ ดังนั้นการค้นหาเชิงรุกจึงสำคัญเท่ากับการควบคุม ต้องทำควบคู่กันไป วันนี้เราอาจจะไปสนใจเรื่องการฉีดวัคซีนมากเกินไป จนละเลยมาตรการการป้องกันตัวเอง ดีที่สุดคือ ต้องควบคุมโรค ดูแลตัวเอง และฉีดวัคซีนควบคู่กันไป เพราะถ้ารอแค่วัคซีน เวฟที่ 4 มาแน่
สรุปโพล คุณคิดว่า โควิดระลอกนี้ สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่?
ทั้งนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น รับสิทธิพิเศษจากผู้สนับสนุนและพันธมิตรได้ทุกตอนผ่าน TERO Digital ได้ที่
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com