เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมปี สกิน ผิวตุ่มพองทั่วร่าง ล้มตายระนาว ปศุสัตว์ สั่งเร่งช่วยเหลือ ชี้วัคซีนไม่ใช่คำตอบ
logo ถกไม่เถียง

เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมปี สกิน ผิวตุ่มพองทั่วร่าง ล้มตายระนาว ปศุสัตว์ สั่งเร่งช่วยเหลือ ชี้วัคซีนไม่ใช่คำตอบ

ถกไม่เถียง : โลกนี้เริ่มอยู่ยาก ไวรัสระบาด ทั้งคนทั้งวัว ไม่เคยเจอก็ต้องเคยเจอเป็นครั้งแรก โรคที่ว่านี้ทำวัวป่วยด้วยอาการประหลาด ตุ่มเต็มตัวชวนขน โรคลัมปีสกิน,ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,ช่อง7HD,TERODigital,กด35,วัว,ป่วยประหลาด,โรคลัมปีสกิน,ตุ่มพอง,สัตวแพทย์,โรคระบาด,กรมปศุสัตว์,วัวควาย,เกษตรกร

2,488 ครั้ง
|
26 พ.ค. 2564

          โลกนี้เริ่มอยู่ยาก ไวรัสระบาด ทั้งคนทั้งวัว ไม่เคยเจอก็ต้องเคยเจอเป็นครั้งแรก โรคที่ว่านี้ทำวัวป่วยด้วยอาการประหลาด ตุ่มเต็มตัวชวนขนลุกขนพอง เชื้อไวรัสชนิดนี้ทำชาวบ้านสุดทุกข์ใจ เสียค่ายามากมาย วัวล้มตายทีละตัว ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว วอนปศุสัตว์ช่วยเหลือ
 
          วันนี้ (26 พ.ค.2564) รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ได้เชิญ ตาแหวง, พิณ และ ตาเกิด เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคตุ่มวัว พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช  ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ มาพูดคุยกันในประเด็นนี้
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
            ตาแหวง เล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีวัวทั้งหมด 8 ตัว เริ่มมีอาการแปลกๆ มาได้ 2 อาทิตย์กว่า ตามตัวของวัวมีตุ่มขึ้นลามไปทั่วทั้งตัว แรก ๆ ยังเดินได้ แต่ผ่านไปมันก็เดินไม่ได้แล้ว ตอนที่ตัวแรกเริ่มมีอาการ ก็เอายามาทา แต่ก็เอาไม่อยู่ จนลามไปที่ตัวที่ 2 ตนเองก็คอยเฝ้าดูอาการมันทั้งคืน หาหญ้า หายาให้มันกิน เอายาหม่องสีเขียวมาทาตุ่ม มันก็ลามไปเรื่อย ตอนนั้นก็โทรหาสัตวแพทย์ให้มาดู สัตวแพทย์บอกวัวมีไข้ เป็นหวัด ก็ฉีดยาให้ ดูแลอยู่อาทิตย์นึงก็ตาย ส่วนตัวแรกที่ป่วย อาการโคม่า นอนได้อย่างเดียว ไม่รู้ว่าตอนนี้ตายไปหรือยัง ตอนที่เขามาฉีดยา เขาบอกว่ามีฉีดยาแก้ไข้ ยาบำรุง เขาบอกว่ามันยังไม่มียารักษาเลย ตอนนี้ตายไป 1 เหลืออีก 7 ตัว แต่มันป่วยทั้งคอก โรคนี้ครั้งแรกที่เจอ เกิดที่บ้านของคนใกล้ๆ แล้ววัวก็ตาย ผมก็ไม่ได้ไปดู กลัวจะติดเชื้อกลับมา เลี้ยงวัวมา 30 - 40 ปี เกิดมาไม่เคยเจอเลย ตอนนี้ค่ายาหมดไปประมาณ 3 - 4 พันแล้วครับ ยังกังวลว่าจะทำยังไงดี เสียตังค์ไปตั้งเยอะแล้วทำไมยังตาย ก็หาวิธีแก้ไขเบื้องต้นก็ไปซื้อมุ้งเขียว ราคา 2 พันกว่าบาท มากางเพราะแมลงมันเยอะ ติดพัดลมอีกหลายบาทให้มัน กลางคืนก็นอนเฝ้ามันด้วย ตอนมันตายก็จ้างให้เขาเอาไปฝัง ผมไม่ไปดูเลย เสียใจมาก แล้วตัวที่ตายคือวัวแม่พันธุ์ซึ่งกำลังตั้งท้อง มูลค่าของวัวตัวนี้อยู่ที่ 6 หมื่นบาท 
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
          ด้าน ตาเกิด เล่าว่า ตัวเองมีวัวอยู่ 9 ตัว ติดเชื้อและมีอาการ 3 ตัว แยกออกมาไม่ได้ มันยังต้องอยู่รวมกัน ตอนแรกมันมีอาการซึมลง หมอก็เข้ามาฉีดยาทุกตัว แต่ไม่กล้าให้ฉีดเยอะ เพราะกลัววัวแพ้ยา ตอนนี้มันเดือดร้อนไปหมด มันเป็นอาชีพเสริม รายได้ก็หายไป แทนที่จะได้เอาไปขายเพื่อได้เงินมาจุนเจือครอบครัว หรือเอาไปซื้อปุ๋ยมาทำนา ก็ต้องเสียไป วัวที่เลี้ยงมาก็เป็นเหมือนมรดกที่ได้มาจากพ่อกับแม่ส่งต่อมา ตอนนี้ หมดไปหลายพันบาท เอาปูนขาวมาโรย แล้วเอายาฆ่าแมลงมาพ่น ตามคำแนะนำที่หมอให้มา ก็อยากให้ทางรัฐฯ ช่วย เพราะลงทุนไปเยอะ ทั้งค่าอาหาร หรือค่าดูแล อย่างวัวที่ผมเลี้ยงมี 9 ตัว วันหนึ่งกินหญ้าวันละ 2 กระสอบ แล้วยังมีค่าเช่าที่ที่มีหญ้าเพื่อเลี้ยงวัว มันมีกรณีที่ถ้าวัวผอม ก็จะต้องใช้อาหารเพิ่ม เพราะถ้ามันผอม มันจะขายไม่ได้ราคา ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงวัวต่อเดือนก็หลายพันบาท การดูแลวัวที่ป่วยก็เหมือนกับดูแลผู้ป่วยติดเตียง ต้องคอยพลิกตัว คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ไม่มีเวลาไปหาหญ้าด้วยตัวเอง จึงต้องไปซื้อหญ้ามา เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
         นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช  ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ให้ข้อมูลของโรคนี้ว่า โรคนี้คือ โรคลัมปี สกิน ยังไม่มีชื่อภาษาไทย คำว่า ลัมปี หมายถึงก้อนเนื้อ เพราะอาการของโรคจะมีตุ่มเนื้อเกิดขึ้นตามร่างกาย เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย ต้นกำเนิดมาจากแอฟริกา ครั้งแรกตั้งแต่ประมาณ 90 ปีที่แล้ว จนมีการซื้อขายส่งต่อมา จนเมื่อสิงหาคม ช่วงปี 63 ที่ผ่านมา เริ่มมีการระบาดในพม่า จึงได้มีการแจ้งข่าวให้เกษตรกรทราบ เราก็เฝ้าระวัง และระงับการนำเข้าตั้งแต่ธันวาคม พอเรามีการแจ้งระงับ มันก็จะมีการลักลอบนำเข้ามา ประเทศเราเองก็มีการส่งออกด้วย โรคลัมปี สกิน นี้ ครั้งแรกที่เจอ เราเจอที่ร้อยเอ็ด ก็มีการแจ้งให้ เจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับเกษตรกร และทำการรักษา โรคนี้จริงๆ รักษาได้ พาหะส่วนใหญ่จะมาจาก ยุง, เห็บ, ลิ้น ,เหลือบ พวกมันจะดูดเลือดที่มีเชื้อจากตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง วัวที่ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการซึม หลังจากนั้นจะเริ่มมีตุ่มขึ้นทั่วร่างกาย พอผ่านไป 10 วัน ตุ่มเหล่านั้นก็จะแตก เชื้อมันจะอยู่ในน้ำเหลือง ถ้าตัวอื่นไปสัมผัสก็จะติดเชื้อได้ โรคนี้รักษาได้ และไม่ใช่ว่าจะเป็นทุกตัว และโรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คน จะเป็นเฉพาะโค กระบือเท่านั้น พวกโคที่เป็นสายเลือดยุโรปพวกนี้จะติดง่าย กว่าโคบ้านเรา
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
        นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรว่า ที่ผ่านมาได้มีการสนับสนุนไปแล้ว แต่อาจจะไม่เพียงพอ เพราะที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีการระบาดสูง ล่าสุดได้มีการสั่งการแล้วว่าให้ดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในพื้นที่ก็จะมีหมออาสา คอยช่วยเหลือ ซึ่ง หมออาสา จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ แต่เป็นเกษตรกรที่มีจิตอาสามาช่วยเหลือ โดยเข้าไปอบรมกับกรมปศุสัตว์ และสามารถเบิกยารักษาได้ ยืนยันว่า วัวที่ป่วยเป็นโรคนี้ ถ้ารักษาหาย และทิ้งระยะของการพักยาไปแล้วก็สามารถกินได้ เพราะยาที่ได้รับไปนี้เป็นยาปฏิชีวนะเหมือนกับที่ใช้ในคน ต้องมีระยะพักยาไปก่อน สำหรับการเยียวยา เบื้องต้นต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น ส่วนการเยียวยาอื่น ๆ นั้นจะเข้าไปหารือเพิ่มเติม
 
        สำหรับเรื่อง วัคซีน เบื้องต้นจะเข้ามาช่วงสิ้นเดือนนี้ประมาณ 6 หมื่นโดส แต่คิดว่าน่าจะไม่เพียงพอ และได้มีการสั่งนำเข้ามาเพิ่มแล้ว 3 แสนโดส เพราะวัคซีนสั่งจากแอฟริกา เขาไม่ได้ผลิตมาก เขาผลิตตามเราสั่ง ซึ่งวัคซีนไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขอย่างเดียว คำตอบคือการป้องกันการเคลื่อนย้าย กำจัดแมลง วัคซีนมันเป็นเชื้อเป็น ถ้าไม่ดูแลให้ดีอาจมีการแพร่ระบาดมากขึ้น วัคซีนที่นำมาฉีดนี้ เกษตรกรจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะเริ่มฉีดจากรอบนอกก่อน เพื่อจำกัดวงการแพร่เชื้อเอาไว้ สิ่งสำคัญคือห้ามเคลื่อนย้าย หากวัวป่วยฉีดวัคซีน พอหายก็จะมีภูมิคุ้มกัน แล้วต้องกักบริเวณของวัวให้อยู่ในพื้นที่เท่านั้น และเร่งกำจัดแมลง ก็จะสามารถคุมพื้นที่แพร่ระบาดได้ 
ถ้าผู้ว่าราชการมีการประกาศว่าเป็นจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติโรคระบาดของโรคนี้ แล้วมีการเคลื่อนย้ายโคหรือกระบือ จะผิดกฎหมายในทันที
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
         ทางรายการได้ติดต่อไปยัง คุณประไพ ปศุสัตว์ของอำเภอสุวรรณภูมิ มาให้ข้อมูลถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ โดยคุณประไพ บอกว่า เราได้มีการประชาสัมพันธ์และการเยียวยากันมานานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด จากการประชุมล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งลงมาแล้วว่า ถ้ามีสัตว์ตายจะมีการเยียวยาเป็นการชดเชยให้ตามอายุของสัตว์ สำหรับเกษตรกร ในกรณีที่สัตว์ตาย จะได้รับการชดเชยไม่เกิน 2 ตัว ตามระเบียบปฏิบัติ และวันนี้ (26 พ.ค.)องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มีการจัดซื้อยาพ่นเพื่อกำจัดแมลงดูดเลือด ตอนนี้ได้รับของแล้วเรียบร้อย จะดำเนินการแจกจ่ายให้เกษตรกรในวันรุ่งขึ้น
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
        สุดท้าย นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช พูดถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อมันเกิดแล้ว ต้องใช้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐฯ เอกชน และเกษตรกร ประเด็นหลักคือการควบคุมการเคลื่อนย้าย ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือนก็สามารถแก้ไขได้ ส่วนการใช้ยาพารา หรือยาที่ใช้กับคนนั้น ผมไม่แนะนำ เพราะระบบร่างกายของวัวแตกต่างจากคน
 
ถกไม่เถียง : เกษตรกรเดือดร้อนหนัก วัวป่วยโรคลัมป
 
สรุปโพล คุณคิดว่า วัคซีนจะเข้ามาทันควบคุมโรคได้หรือไม่?
 
ทั้งนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น รับสิทธิพิเศษจากผู้สนับสนุนและพันธมิตรได้ทุกตอนผ่าน TERO Digital ได้ที่ 
 
ติดตาม  รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ”  ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์  ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง  hitz955.com