"ยามันแรงหน่อยนะ" หมอบอกกับเด็กชายวัย 2 ขวบ ถัดมาเพียง 4 ชั่วโมง หลังฉีดยา น้องเสียชีวิต หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่แตกสลาย มิหนำซ้ำยังคาใจ เหตุใดผลการตายบอกว่าลูกสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลม ครอบครัวส่งชิ้นเนื้อลูกไปตรวจ แต่รอวันแล้ววันเล่าไม่มีใครให้ผลตรวจ ส่วนหมอบอกเพียงเป็นอุบัติเหตุลองมีลูกใหม่ดูนะ
วันนี้ (17พ.ค.2564) รายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ได้เชิญ ณัฐวุฒิ พุกน้อย และ สงกรานต์ เรืองฤทธิ์ พ่อแม่ของเด็กชายวัย 2 ขวบที่เสียชีวิตหลังฉีดยา พร้อมด้วย ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต ทนายความ และ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว มาพูดคุยประเด็นนี้กัน
ณัฐวุฒิ พุกน้อย และ สงกรานต์ เรืองฤทธิ์ พ่อแม่ของเด็กชายวัย 2 ขวบที่เสียชีวิต เล่าให้ฟังว่า วันที่ 16 มีนาคม ประมาณสองทุ่มกว่า ลูกชายวัย 2 ขวบ มีอากากระแอมเหมือนมีอะไรติดคอ แต่ยังใช้ชีวิตปกติ ตกกลางคืนน้องเริ่มงอแง เลยตัดสินใจจะพาน้องไปหาหมอวันรุ่งขึ้น โดยพาน้องไปหาหมอที่คลินิก หมอตรวจพบหนองในคอ บอกให้ฉีดยาแรงหน่อยนะพ่อ ฉีดตรงสะโพก 1 เข็ม เสร็จก็ออกมาจ่ายค่ายา 590 บาท ได้รับยามา เสร็จก็กลับบ้าน ประมาณ 10 โมงเช้า น้องก็อาเจียน ก็ให้อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อ ทานยา สักพักน้องเริ่มเกร็ง เลยพาน้องไปที่รพ. ไปถึงหมอก็ทำ CPR แต่น้องทนไม่ไหวเสียชีวิต ต่อมาพยาบาลแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าระบุสาเหตุการตายไม่ได้ ต้องไปตรวจพิสูจน์ให้ละเอียด ตำรวจก็ถามเราว่าเป็นมายังไง แล้วส่งไปพิสูจน์ ผลออกมาบอกว่าน้องสำลักนม นมท่วมปอด หลังลูกเสียชีวิตคุณหมอที่รักษาน้องก็มาในงานศพ มาแสดงความเสียใจ พอพระสวดเสร็จก็ได้คุยกัน เขาบอกว่า เสียใจด้วยนะ ลองมีลูกใหม่ดู อย่าเพิ่งไปปิดกั้นตัวเอง แก้หมันดู ไม่เท่าไรเอง แต่เราไม่คิดจะแก้หมัน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายเยอะ เขาสวนกลับมาว่า ชีวิตมันลำบากขนาดนั้นเลยรึ เขาไม่ได้พูดเรื่องการเยียวยาเลย พูดแต่เรื่องอื่นแทน นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เจอหมอคนนี้
ด้าน รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว พูดถึงประเด็น หนังสือรับรองการเสียชีวิตว่า ในเอกสารระบุชัดเจนว่า เด็กเสียชีวิตจากการสำลักนม ชัดเจนว่าเป็นการสำลักสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม เกิดขึ้นได้ในเด็กอายุน้อย เมื่อมีการกินนมไป แล้วเกิดการอาเจียน ก็อาจทำให้นมออกจากหลอดอาหาร ไปอุดตันในหลอดลมได้ ซึ่งสิ่งที่ระบุเป็นการสรุปในเบื้องต้น แต่การอาเจียน ต้องไปดูสาเหตุที่ทำให้อาเจียน ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้ยา โดยทั่วไป การแพ้ยารุนแรง จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ภายในเวลา 30 นาที แต่ถ้าไม่รุนแรง ก็อาจจะมีอาการเวียนศีรษะอาเจียนได้ แต่ถ้าจะเชื่อมโยงว่า การฉีดยามีส่วนให้เสียชีวิต ก็คงต้องตรวจพิสูจน์เพิ่มเติม
สำหรับการตรวจชิ้นเนื้อสามารถบอกได้ว่าได้ทำการฉีดยาอะไรไป แต่ต้องเข้าไปตรวจในห้องแลปใหญ่ ขึ้นอยู่กับแพทย์ว่าการตรวจนี้จะมีผลต่อการสอบสวนคดีหรือไม่ อีกวิธีคือการเจาะเลือด โดยปกติการเจาะเลือดจากศพจะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามียาอะไรอยู่ในร่างกาย แล้วแต่กรณีของแพทย์ที่ชันสูตรว่าอะไรเหมาะสมกับการพิสูจน์ จริงๆแล้ว แต่ละครั้งที่ฉีดยา ตามมาตรฐานของวิชาชีพ แพทย์ต้องมีการจดว่าให้ยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่
เรื่องสาเหตุการเสียชีวิต หน้าที่ของแพทย์นิติเวชจะสิ้นสุดตอนออกหนังสือแจ้งสาเหตุการเสียชีวิต แต่ถ้าต้องการสืบหาว่าเป็นการเสียชีวิตเพราะยาชนิดใดหรือไม่ ต้องให้แพทย์เฉพาะทางตรวจสอบ เช่น กุมารแพทย์ แล้วนำผลการตรวจสอบนั้นมาประกอบกับผลการชันสูตร หากเด็กป่วยมีจุดหนองในคอ เมื่อชันสูตรก็จะสามารถค้นพบได้ ว่ามีการอักเสบในคอเกิดขึ้น ซึ่งผลแลปมันอยู่ที่หน่วยงานภายนอก หมอไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงเองได้ ถ้าหมอไปเขียนอะไรที่ไม่ตรงกับผลทางห้องปฏิบัติการ จะมีปัญหาแน่นอน หากใครสงสัยสามารถขอตรวจสอบได้หมด
ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือการทำความเข้าใจ ฟังจากเรื่องแล้ว มันยังขาดข้อมูลอยู่ เมื่อมีข้อมูลครบแล้ว ผมเชื่อว่าหน่วยงานจะต้องมาทำความเข้าใจกับครอบครัวอย่างชัดเจน
ฟากทนายเจมส์ - นิติธร แก้วโต ให้ความรู้ด้านกฎหมายในกรณีนี้ว่า เบื้องต้นสามารถขอข้อมูลยาที่ฉีดจากที่คลินิกได้เลย แล้วนำเลขทะเบียนยานี้ไปให้แพทย์ตรวจสอบ ว่ายาตัวนี้เป็นผลทำให้เกิดอาการอาเจียน จนสำลักทำเกิดอาการนมท่วมปอดหรือไม่ เพราะจากเอกสารที่เห็นตอนนี้อาจจะเรียกร้องอะไรไม่ได้ เนื่องจากหนังสือรับรองการเสียชีวิตระบุ เด็กเกิดอาการสำลักเอง เป็นการเสียชีวิตด้วยตัวเอง ยกเว้นจะมีการตรวจสอบหลักฐาน พยานอื่น ๆ ให้เห็นถึงความประมาท ก็สามารถดำเนินเรื่องต่อได้ ดังนั้น ต้องเอาผลชันสูตรมาดูก่อนว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไร ถ้าผลออกว่าสำลักเอง ก็จะไม่สามารถเอาผิดอะไรได้
ในส่วนของพนง.สอบสวนมีอำนาจที่จะเรียกใครมาให้ข้อมูลก็ได้ เพียงแต่บางครั้งตร.ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเรามีข้อมูลเราก็ไปขอร้องให้ตร.ลองทำตรงนี้ได้ไหม ขอเวชระเบียน เพื่อนำข้อมูลของยามาตรวจสอบ ว่ายาที่ให้ไปนี้ ทั้งชนิดของยา และปริมาณของยาเหมาะสมหรือไม่ ข้อเสียเปรียบคือฌาปนกิจศพน้องไปแล้ว คือถ้าเรายังคาใจ เราสามารถขอผ่าพิสูจน์รอบสองก็ได้ แต่พอเผาไปแล้ว ทำให้ถ้าต้องการให้มีการชันสูตรครั้งที่ 2 ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว
ถ้ายังคาใจในกรณีนี้สามารถไปร้องกับแพทยสภาได้ เพื่อให้ตรวจสอบว่าการรักษาของแพทย์เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็อาจจะมีการเรียกร้องให้มีการชดเชยได้ ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คดีนี้อาจจะเป็นคดีผู้บริโภคได้ หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง คลินิกต้องสามารถอธิบายให้ได้ว่า ทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ให้ยาอะไรกับเด็กไป ให้ในปริมาณเหมาะสมหรือไม่ หากพิสูจน์ได้ศาลก็ยกฟ้อง แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็จะต้องมีการชดเชยต่อไป
สุดท้าย สงกรานต์ เรืองฤทธิ์ แม่ของหนูน้อยที่เสียชีวิต เผยว่า "พูดตรงๆ คิดว่าครึ่งหนึ่งมันเป็นเพราะความประมาทของเราหรือเปล่าที่ทำให้ลูกเสียชีวิต พอผลมันออกมาเป็นแบบนี้ เราก็ไม่อยากไปโทษใคร คนในบ้านทุกคนรู้สึกผิด เหมือนเราพาน้องไปตาย มันอดที่จะโทษตัวเองไม่ได้ พอได้ฟังข้อมูลแล้ว มันรู้สึกผิด เหมือนเราดูแลลูกไม่ดี ถ้าดูแลดีกว่านี้ลูกเราก็คงไม่ตาย ถ้าหนูพาลูกไปโรงพยาบาล ก็อยากรู้ว่าเขาจะฉีดยาให้เด็ก 2 ขวบไหม หนูคิดว่าเขาคงไม่ฉีด มันรู้สึกเหมือนพาลูกไปตาย"
สรุปโพล คุณคิดว่าสาเหตุการเสียชีวิตนี้ เกิดขึ้นจาก?
ทั้งนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น รับสิทธิพิเศษจากผู้สนับสนุนและพันธมิตรได้ทุกตอนผ่าน TERO Digital ได้ที่
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com