จากกรณีป้าสี(นามสมมุติ) ได้เข้าร้องเรียนกับสื่อหลังโดนแก๊งเงินกูออนไลน์หลอก ให้โอนเงินค่าลงทะเบียนการกู้เงิน ค่าธรรมเนียม หลักร้อยถึง11ครั้ง จนสุดท้ายก็ไม่สามารถกู้เงินได้จริง ซ้ำยังท้าให้เเจ้งความเลย จนป้าสี(นามสมมุติ) ตัดสินใจฆ่าตัวตายเเต่ครอบครัวช่วยไว้ได้ เเละได้พาไปแจ้งความแต่ตำรวจบอกให้ทำใจเพราะตามตัวแก๊งมิจฉาชีพได้ลำบาก
"ถกไม่เถียง" วันนี้ ( 13 พ.ค. 64 ) ดำเนินรายการโดยพิธีกร ทิน โชคกมลกิจ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ป้าสี(นามสมมุติ) เหยื่อถูกหลอกกู้เงินออนไลน์ ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล รองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ เเละ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาร่วมพูดคุยกันถึงประเด็นนี้
โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ป้าสี(นามสมมุติ) เผยเริ่มจากมีคนมาขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก แล้วมาแอดไลน์ เหมือนให้เล่นเกม แต่ไม่ได้เล่นเกม มาให้กู้เงิน มีการส่งภาพบัตรประชาชนมาเพื่อให้มั่นใจเลยว่าแอดมินไม่ได้หลอก อ้างว่าสามารถเอารูปบัตรประชาชนไปเเจ้งความได้เลย เเละด้วยความมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพราะช่วงโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงจึงตัดสินใจกู้เงิน ไม่ได้คิดว่าว่าจะหลอกเพราะเขากล้าส่งรูปบัตรประชาชนมาให้ดู
ซึ่งตอนเเรกหวังจะกู้เงิน 30,000 บาท เเต่เขาบอกในไลน์ว่า ก่อนกู้ต้องเสียค่าสมาชิกก่อน 200 ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจคือรูปบัตรประชาชน แม้เขาบอกให้ไปแจ้งความก่อน เราก็ไม่ได้แจ้งเพราะเรามั่นใจ เลยตัดสินใจไปโอนเงินตามเลขบัญชีที่เขาส่งมาให้ที่ตู้ ATM ให้ ต่อมามีการอ้างให้โอนเงินเพิ่มอีกหลายครั้ง ตอนโอนค่าเอกสาร 600 บาท เรายังไม่เอะใจ เพราะเขาบอกว่าถ้าโอน จะได้เงินเลย ไม่เกิน 5 วินาที แต่ก็มีติดต่อมาให้โอนค่านายหน้า ค่าคอมฯ พูดเหมือนเดิม เราก็รออยู่ที่หน้าตู้ ATM ตลอดไม่ได้ไปไหน แล้วเขาก็โยนไปให้คุยกับคนอื่นอีกเป็นทอดๆ
จนมาถึงคนที่ 4 เขาบอกว่าตัวเองเป็นเจ้าของเงิน แต่เขาให้จ่ายค่าสมาชิกเพิ่มอีก 350 บาท คิดว่าจบแล้ว แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก สุดท้ายขอให้จ่ายค่าเปิดบัญชี 1,000 บาท ป้าเลยบอกว่าป้าไม่มีจ่ายแล้ว ป้าหมดตัวแล้ว ป้าขอเงินคืนเถอะ
ป้าพยายามส่งข้อความไปหาเขา บอกว่าเราหมดแล้ว เราไม่มีแล้วจริง ๆ บอกไปว่าจะแจ้งความ เขาก็บอกว่าให้ไปแจ้งเลย วันนั้นตัดสินใจกินยานอนหลับไป 10 เม็ด เราคิดว่าตัวเองสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในบ้าน แต่ลูกคนเล็กก็เข้ามาเรียก เลยได้สติว่าถ้าเราเป็นอะไรไป ลูกจะอยู่กับใคร
ต่อมา ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล หรือทนายแก้ว ทนายความชื่อดัง ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องรูปบัตรประชาชนที่มิจฉาชีพส่งมาให้ว่ารูปบัตรประชาชนที่เขาส่งมาให้ในตอนแรก แล้วบอกให้ไปแจ้งความ ไม่สามารถเอาไปแจ้งความได้ เพราะยังไม่ได้มีความเสียหายเกิดขึ้น ผมต้องกราบใจคุณป้าที่กรณีนี้ ความเสียหาย 6 พันบาท แต่ยอมไปแจ้งความเอาผิด
การทำความผิดเป็นแบ่งเป็นกรรม ในการโอน 1 ครั้งนับเป็น 1 กรรม คุณป้าโอนไปทั้งสิ้น 11 ครั้ง ครั้งนึงอัตราโทษ 5 ปี ก็คูณเข้าไป คนพวกนี้จับได้แน่นอนครับ การโอนเงินมีการระบุตัวตน การส่งข้อมูลทางไลน์สามารถติดตามตัวได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเลย
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ได้เผยถึงความคืบหน้าถึงเรื่องนี้ว่า วิธีการของคนร้ายจะใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อ ซึ่งบัญชีออนไลน์สามารถปลอมได้ ปัญหาคือระบุตัวตนคนร้ายได้อย่างไร ร่องรอยก็คือบัญชีธนาคาร ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าบัญชีเป็นของมิจฉาชีพหรือไม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คดีนี้อยู่ที่สภ.เมืองชลบุรี ซึ่งท่านผกก.กำลังเร่งดำเนินการสอบสวน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับธนาคาร เพื่อเรียกตัวเจ้าของบัญชีมาสอบสวน
เเละอยากเตือนว่าบัญชีธนาคารนั้นที่เขาให้เราโอนไปอาจจะเป็นของคนอื่นก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วเงินออกไปที่ไหน คนนั้นก็คือผู้กระทำผิดตัวจริงซึ่งทางธนาคารสามารถตรวจสอบให้ได้ ทุกอย่างในโลกออนไลน์ไม่สามารถยืนยันอะไรได้ชัดเจน รูปของบัตรประชาชนสามารถนำมาจากกูเกิ้ลก็ได้ เป็นกลยุทธ์ที่คนร้ายใช้เพื่อให้เหยื่อตายใจ คิดว่าจับได้ไม่น่ายาก เพราะมันเป็นภัยสังคม สร้างความเสียใจให้กับคุณป้า
ด้านทนาย ดร.มนต์ชัย ได้กล่าวต่ออีกว่า เงินที่มิจฉาชีพมองเอาไว้เป็นเงินทีละน้อย ไม่กี่ร้อย เพราะคิดว่ามันสามารถโอนได้ง่าย พอทำได้หลายคนก็ถือว่าได้รายได้เยอะเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อมีการจับคนร้ายได้ ต้องฟ้องแพ่งไปด้วยกัน โดยพนักงานอัยการต้องฟ้องติดคุกร่วมไปกับฟ้องชดใช้เงิน พนักงานอัยการจะมีการยื่นฟ้องให้คนร้ายติดคุก พร้อมกับต้องชดใช้ให้กับคุณป้า เป็นคดีอาญา แต่ค่าเสียหายอื่น ๆ เช่นค่าเสียเวลา ต้องดำเนินการฟ้องในทางแพ่ง ไม่อยากให้ป้าคิดว่าไม่ได้เงินคืน ให้คิดว่าฝากธนาคาร คนร้ายพวกนี้มักคิดว่าเหยื่อจะไม่แจ้งความเพราะหลอกเงินในจำนวนไม่เยอะ ไม่คุ้มค่ากับการดำเนินคดี เวลาศาลฟ้องไม่ได้มองว่าเงินจะน้อยจะมาก พวกนี้โทษเท่ากัน
ทนายแก้วยังได้เตือนประชาชนว่าการกู้เงินที่มีเงื่อนไขแปลกๆให้สันนิษฐานว่าถูกหลอกแน่ๆ มันไม่มีหลอกที่ต้องมีขั้นตอนโอนเงินถึง 11 ครั้ง ส่วนเรื่องที่ป้าส่งรูปบัตรประชาชนให้เขาไปด้วย เรื่องนี้แก้ไขง่ายมาก ให้ป้าไปแจ้งความยกเลิกบัตรประชาชนเดิมแล้วไปทำบัตรใหม่ บัตรนั้นจะโดนยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ
ซึ่งต่อจากนี้อยากให้ผู้เสียหายจากคดีเเบบนี้ควรรวมตัวแจ้งความ ต้องเป็นผู้ต้องหากลุ่มเดียวกัน ความยากอยู่ที่เหยื่อแต่ละคนอยู่คนละที่กัน ถ้ารวมกลุ่มเป็นแกนนำได้แล้วมอบหมายทนายคนเดียวดำเนินการแบบนี้ก็ได้เรื่องก็จะง่าย เวลาไปแจ้งความแล้วต้องไปตามตำรวจด้วย เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้คดีจะไม่คืบ เพราะตำรวจมีคดีเยอะ
ส่วนป้าสี(นามสมมุติ) ได้ฝากส่งท้ายไว้ว่า เรื่องเงินทำใจแล้วว่าเงินจะไม่ได้คืนมิจฉาชีพ เราเห็นว่ามันเป็นเงินจำนวนน้อย ๆ ไม่ได้เยอะมาก เราก็เลยไม่คิดว่ามันจะโดนหลอกตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากจะได้เงิน ด้วยคำว่า 5 วินาที เขาพูดท้ากับป้าว่า ป้าไม่กล้าแจ้งความ ป้าบอกว่าป้าจะร้องสื่อเขาคิดว่าป้าไม่กล้าทำ ป้าอยากให้ทุกคนได้รู้ อยากให้เป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนว่า อย่าหลงเชื่อแค่บัตรประชาชน ให้ตรวจสอบดูให้ดีก่อน อย่าเป็นเหมือนป้า
สรุปโพล พิษเศรษฐกิจโควิด-19 คุณได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?
ทั้งนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น รับสิทธิพิเศษจากผู้สนับสนุนและพันธมิตรได้ทุกตอนผ่าน TERO Digital ได้ที่
Facebook https://cutt.ly/gzL1mhU
LINE https://cutt.ly/szL1RML
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com