ดีเดย์ 5 เม.ย. ห้ามรถวิ่งไหล่ทางบนทางด่วน ฝ่าฝืน ปรับ 1,000 บาท กทพ.ลุยติดกล้องสแกนรถจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อย ประสาน ตำรวจส่งใบสั่งถึงบ้าน ยังไม่ชัดอนุโลมชั่วโมงเร่งด่วนหรือไม่ จ่อแก้กฎกระทรวงกำกับความเร็วใหม่ บนทางยกระดับ 100 กม./ชม. ทางราบ 110 กม./ชม. คาดบังคับใช้ปีนี้
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรปราการ และ พ.ต.อ.ศราวุธ จิตต์ระเบียบ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ร่วมแถลงข่าวมาตรการความปลอดภัยบนทางพิเศษด้วยกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยความร่วมมือระหว่าง กทพ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า กทพ. ในฐานะผู้ให้บริการทางพิเศษ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายที่ทำงานบูรณาการร่วมกันมาโดยตลอด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ โดยมุ่งเน้นถึงความปลอดภัย มาเป็นอันดับแรก ซึ่งจากข้อมูลของ กทพ. โดยระบบงานเหตุการณ์บนทางพิเศษ (TFC) พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษ ในปีงบประมาณ 2563 มีมากกว่า 800 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 440 รายและเสียชีวิต จำนวน 7 ราย โดยเกือบร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิการใช้ความเร็วสูง การเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ฯลฯ กทพ. โดยฝ่ายควบคุมการจราจร จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานการป้องกันอุบัติเหตุในทางพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2563 -2565 ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้บนทางพิเศษโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทางพิเศษให้เหลือน้อยที่สุดรวมถึงลดความสูญเสียในทรัพย์สินของผู้ใช้ทางพิเศษและของ กทพ.อันจะทำให้ผู้ใช้ทางพิเศษเกิดความสะดวกและปลอดภัยในการใช้ทางพิเศษตามวิสัยทัศน์ของ กทพ. “มุ่งมั่นพัฒนาทางพิเศษ เพื่อให้บริการที่ดี มีความคุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ กทพ. และตำรวจ จึงมีมาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ
1. การติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) ที่ทำงานควบคู่ไปกับกล้องตรวจจับความเร็วเพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดย กทพ. จะดำเนินการติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วทุกสายทางพิเศษ รวมจำนวนทั้งสิ้น 17 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทาง ซึ่งกทพ. ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 4 จุดเเละทางพิเศษเฉลิมมหานครจำนวน 5 จุด สำหรับอีก 2 เส้นทางที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ประกอบด้วย ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2564 เเละทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 4 จุดคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2565
2. การติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน)เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในไหล่ทางโดย กทพ. จะดำเนินการติดตั้ง จำนวน 32 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทาง ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 1 เส้นทาง คือทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ในระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 6 จุด ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด และทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด
ทั้งนี้ ในส่วนของทางพิเศษที่มีเอกชนร่วมดำเนินการ กทพ. ได้ประสานให้มีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว และกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เช่นกัน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน กทพ. จะรวบรวมข้อมูลผู้กระทำผิดพร้อมไฟล์ภาพจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งน่าจะเริ่มต้นในวันที่ 5 เม.ย. 2564 นี้
วิ่งไหล่ทางปรับ 1,000 บาท
สำหรับผู้ฝ่าฝืน มีโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีระบุในมาตรา 103 ว่า “ทางใดที่มีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถ ให้คนเดินเท้าเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ถ้าทางนั้นไม่มีทางเท้าอยู่ข้างทางเดินรถให้เดินริมทางด้านขวาของตน” ประกอบมาตรา 33 จึงมีความผิดตามมาตรา 139 ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ส่วนรายละเอียดการใช้ทาง กรณีฉุกเฉินจะไม่ถือว่าเข้าข่ายต้องบังคับใช้กฎหมาย ส่วนต้องผิดกี่ครั้งจึงจะตัดแต้มยังต้องหารือกับตำรวจอีกก่อน รวมถึงการบริหารจัดการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า – เย็น ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาการจราจรติดขัด และจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวก ก็กำลังหารือและดำเนินการกันอยู่ จะผ่อนผันกันอย่างไรต่อไป