จากประเด็นปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมเป็นวงกว้าง ว่าจริงๆแล้วคนที่เคยติดคุก โดนคดี ควรมีโอกาสในสังคมไหม? โดยเฉพาะนักโทษให้คดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งมีโอกาสออกมาก่อเหตุซ้ำหลังได้รับการปล่อยตัว จากที่เราได้เห็นข่าวตามสื่อหลายครั้งหลายครา ที่นักโทษบางคนได้รับการปล่อยตัวออกมา แล้วมีการก่อเหตุซ้ำโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากการที่ตัวของเขาเองไม่รู้จะออกมาทำอาชีพอะไร หรือไม่ได้รับโอกาสทางสังคม จึงเลือกที่จะกลับไปในเส้นทางเดิม แต่บางคนก็ทำผิดเพราะเป็นนิสัยไปแล้ว
'ถกไม่เถียง' วันนี้ (18 มี.ค. 64 ) จึงหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุย และร่วมกันตกผลึกความคิด กับหัวข้อ อดีตนักโทษอุกฉกรรจ์ "ให้โอกาส" หรือ "ภัยสังคม"? พร้อมแขกรับเชิญ โกบอย ธนวัฒน์ ผู้ที่เคยเข้าไปสัมภาษณ์นักโทษมาแล้วทั่วประเทศ , ยศ ไทยวอสก้า อดีตผู้ต้องขังชิงทรัพย์ธนาคาร และ คุณเหม่ง (นามสมมติ) ผู้ประกอบการที่เคยมีอดีตนักโทษมาสมัครงาน
ในมุมมองของ โกบอย ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดกับนักโทษมาแล้วหลายครั้ง เล่าให้เราฟังว่า ผมเคยรับอดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดมาทำงาน 2 คน พออยู่ได้ไม่นานก็ไป ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ และมุมมองที่ต่างกัน และถ้าตอนนี้มีอดีตผู้ต้องขังมาสมัครงานก็ยังรับอยู่ เหตุที่ให้โอกาสพวกเขา เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นอาชญากรโดยสันดาน แรกๆเลยผมโดนถามเยอะมาก ที่เอาศิลปินไปเล่นในเรือนจำ ผมโดนผู้ประกอบการถามว่าคนตกงานทั่วประเทศเป็นล้าน กับผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว โกบอยคิดว่าผมจะให้โอกาสใครก่อน
ผมเข้าใจคนที่ออกมาจากข้างใน พวกเขาจะโทษตัวเอง ว่าตัวเองเป็นคนด้อยค่า แต่ผมมองว่าพวกเขามีความสามารถมาก เพียงแค่เคยเอาไปใช้ในทางที่ผิด อยากให้ลองเปิดโอกาสให้เขาดู แล้ววางมาตรการเพื่อตรวจสอบแทน สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นห่วงที่สุดก็คือ ที่ยืน และโอกาสในสังคม เขาห่วงว่าถ้าพ้นโทษออกไปแล้ว จะใช้ชีวิตยังไงต่อ กลัวไม่ได้รับโอกาส แต่โอกาสมันไม่ได้มีให้บ่อยๆ เมื่อคุณรับไว้แล้วก็ควรจะปฏิบัติตัวให้ดี แล้วถ้าเกิดออกไปแล้วยังทำอีก คนแบบนี้ก็ไม่ควรให้โอกาส
ด้านคุณยศ ไทยวอสก้า อดีตผู้ต้องขังชิงทรัพย์ธนาคาร ได้มาเปิดใจในรายการ ถกไม่เถียง พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่า คุณยศเคยเป็นอดีตผู้ต้องขังชิงทรัพย์ธนาคาร เมื่อปี 58 ออกมาตอนปี 61 ก่อนนั้นเคยเป็นแมสเซนเจอร์ แล้วชอบลิเวอร์พูลก็เลยเล่นพนันบอล จนเป็นหนี้ แล้วต้องหาเงินไปใช้หนี จึงตัดสินใจใช้บีบีกันไปชิงทรัพย์ธนาคาร ซึ่งโทษในการใช้บีบีกันจี้ชิงทรัพย์ โทษเท่าใช้ปืนจริง โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ได้อภัยโทษ 3 ครั้ง ติดจริง 3 ปี หลังได้รับการปล่อยตัว ก็เคยไปสมัครงานแมสเซนเจอร์ ต้องมีเรื่องการวิ่งรับเอกสาร รับเช็ค แต่ด้วยโทษคดีชิงทรัพย์ เลยไม่มีใครกล้าไว้ใจ ผมเคยไปสมัครงานที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินเลย แต่ผมคงอาจไปเจอกับคนที่มองเราในแง่ลบก็เลยไม่ได้รับโอกาส และ รอยสักอาจมีส่วนเกี่ยว บางที่ก็ตรวจสอบประวัติ บางที่เราทำงานไปแล้ว อยู่ๆก็เชิญออก เพราะโดนตรวจสอบประวัติเจอย้อนหลัง ทั้งที่เรื่องงานก็ไม่ได้ทำเสียหาย และที่กล้ามาออกรายการ เพราะอยากเป็นกระบอกเสียงให้ อดีตผู้ต้องขัง อดีตผู้ต้องขังบางคนไม่ได้เลวโดยสันดาน การให้โอกาสสำคัญที่สุด
คุณยศ ยืนยันว่า กลับตัวแล้ว ไม่มีทางกลับไปทำอีก "ผมเข็ดคุกแล้ว แม้สถานการณ์ตอนนี้จะเลวร้ายกว่าตอนนั้นก็ไม่มีทางกลับไปทำอีก วันนั้นที่ตัดสินใจไปชิงทรัพย์ ผมคิดแล้วทำเลย ไม่ได้วางแผนอะไร ถามว่าวันนี้ถ้าเลือกได้จะทำแบบนั้นอีกไหม บอกเลยว่าไม่มีทาง" คุณยศยังเล่าถึงชีวิตในคุก ที่ตื่นเช้ามาต้องสวดมนต์ อาบน้ำกินข้าวเป็นเวลา ต้องขึ้นเรือนนอนไม่เกิน 4 โมงเย็น เปิดห้องขังอีกที 7 โมงเช้า ไม่ว่าคุณจะเป็นจะตายก็ไม่มีใครสนใจ ยังไงก็เปิด 7 โมงเช้า
สำหรับในมุมการให้โอกาสอดีตผู้ต้องขัง คุณยศมองว่า เหรียญมันมีสองด้าน คนมันไม่ได้เหมือนกันทุกคน มันคงไม่มีใครจะมาทำร้ายคนอื่นทุกคนหรอก คนที่ฆ่าตัวตายแล้วยังยิ้มอยู่ คนแบบนี้ก็ไม่ควรให้โอกาส มันต้องดูที่การกระทำของแต่ละคน แต่ตอนนี้คุณยศยังโชคดีที่ได้รับโอกาสจากโกบอย ได้เข้ามาเป็นศิลปินจิตอาสา และ พี่แพท พาวเวอร์แพท ช่วยเขียนเพลงให้ ชื่อเพลง บิดมิดไมล์ เนื้อหาเกี่ยวกับโอกาส การไม่ยอมแพ้ แม้ใครจะตีตราว่าเราเป็นขยะสังคม แต่ต้องไม่ท้อ
ฟาก คุณเหม่ง (นามสมมติ) ผู้ประกอบการที่เคยมีอดีตนักโทษมาสมัครงาน มาบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเคยรับพนักงานที่เป็นอดีตผู้ต้องขังมา 2 คนแต่ก็เกิดเรื่องเกิดราวทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้งนั้น ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบประวัติก่อนรับเข้ามาทำงาน โดยครั้งหนึ่งถึงขนาดเกือบถูกแทงมาแล้ว จนตอนนี้ คุณเหม่ง ไม่กล้าให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังอีกเพราะเข็ด โดยให้เหตุผลในมุมผู้ประกอบการว่า ไม่ใช่ว่าไม่ให้โอกาส แต่ถ้าลดความเสี่ยงขององค์กรได้ ถ้าต้องรับผิดชอบคนเป็นร้อยต้องเลือกอะไร ถ้ามีสิทธิเลือกคุณจะเลือกแบบไหน เมื่อมีคนให้เลือกเยอะ ระหว่างคนตกงานเป็นล้านคน กับอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งอยู่ในสถานการณ์จริง ถ้าเลือกได้ ก็คงจะเลือกทางที่ทำให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด
คุณเหม่ง ระบุว่า ไม่ใช่ไม่อยากให้โอกาส แต่มันต้องดูว่าอดีตผู้ต้องขังคนนั้น เหมาะกับงานแบบไหน อย่างของคุณยศ ถ้าผมเปิดร้านเหล้า ผมก็ยินดีรับเต็มที่ พร้อมเสนอแนะว่ามันควรจะมีองค์กรอะไรสักแห่ง ที่การันตีว่า อดีตผู้ต้องขังคนนี้ ออกมาแล้วจะไม่กลับไปทำผิดอีก และตัวผู้ต้องขังเองต้องให้โอกาสตัวเอง ต้องกล้าที่จะไปสมัครงาน และบอกเขาไปตรงๆเลยว่าคุณเคยมีประวัติมาก่อน แล้วขอโอกาสเขาตรงๆ
สรุปผลโหวต อดีตนักโทษอุกฉกรรจ์ สังคมควร ให้โอกาส หรือ ไม่ให้โอกาส
ทั้งนี้ รายการ ถกไม่เถียง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น รับสิทธิพิเศษจากผู้สนับสนุนและพันธมิตรได้ทุกตอนผ่าน TERO Digital ได้ที่
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง hitz955.com