ไขข้อข้องใจ! ลูกหนี้ตาย-ติดคุก ใครต้องใช้หนี้แทน ทนายแนะวิธีทวงหนี้?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

ไขข้อข้องใจ! ลูกหนี้ตาย-ติดคุก ใครต้องใช้หนี้แทน ทนายแนะวิธีทวงหนี้?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : หลายคนคงเคยได้ยินคำที่ว่า เงินไม่เข้าใครออกใคร แต่ หนี้ก็เข้าแล้วไม่ออกเหมือนกัน ซึ่งเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ลูกหนี้,เจ้าหนี้,หนี้สิน,เป็นหนี้,ทวงหนี้,ลูกหนี้ตาย,ลูกหนี้ติดคุก,กฎหมายคุ้มครองลูกหนี้,ทนายเจมส์

27,183 ครั้ง
|
24 ก.พ. 2564
หลายคนคงเคยได้ยินคำที่ว่า “เงินไม่เข้าใครออกใคร” แต่ “หนี้ก็เข้าแล้วไม่ออกเหมือนกัน” ซึ่งเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้คือ ปมคาใจของใครหลายคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ หรือว่าลูกหนี้เองก็ตาม เพราะปัญหานั้นก็คือ หากว่าลูกหนี้ติดคุก หรือเสียชีวิตก่อนที่จะปลดหนี้หมด หนี้ก้อนนั้นจะตกแก่ใคร ในมุมของเจ้าหนี้จะได้เงินคืนอย่างไร แล้วทายาทจะต้องใช้หนี้แทนจริงหรือไม่ รอดไปด้วยกันมีคำตอบ
 
 
โดยรายการรอดไปด้วยกัน ได้สอบถามไปยังทนายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์ ทนายความชื่อดัง ซึ่งได้รับคำตอบว่า
 
 
กรณีลูกหนี้เสียชีวิต
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ระบุว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” นั่นเท่ากับว่า ‘หนี้’ ก็คือหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ตาย เปรียบเสมือนมรดกที่จะต้องตกทอดสู่ทายาทด้วยเช่นกัน
 
 
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ระบุว่า ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ซึ่งหมายความว่า ทายาทจะใช้หนี้ไม่เกินมรดกทรัพย์สินที่ได้รับจากบุพการี เช่น หากทายาทได้รับมรดกเป็นทรัพย์สินจำนวน 1 ล้านบาท แต่บุพการีมีหนี้ทั้งหมด 2 ล้านบาท ทายาทก็จะต้องชำระหนี้แทนบุพการีเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
 
 
แล้วถ้าเกิดบุพการีไม่มีทรัพย์สินหรือมรดกตกทอดแก่ทายาท ก็เท่ากับว่าทายาทไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้แทนบุพการี
 
 
แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตแล้วไม่มีทายาทและไม่มีญาติพี่น้องเลย ก็เท่ากับว่าหนี้นั้นจบสิ้นลงทันที
 
 
ขั้นตอนการติดตามทวงหนี้ ภายหลังจากลูกหนี้เสียชีวิต
หากลูกหนี้ที่เสียชีวิตมีทายาท และมีมรดกตกทอดแก่ทายาท แล้วเจ้าหนี้จะมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร เพื่อจะทวงหนี้นั้นกลับคืนมาได้ ทนายเจมส์แนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังนี้
 
 
1. รวบรวมหลักฐานการเป็นหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ที่เสียชีวิต
2. สืบหาว่าใครคือทายาทของลูกหนี้
3. แต่งตั้งทนายความ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งบังคับคดี เพื่อให้ยึดหรืออายัดทรัพย์ (จำนวนเท่ากับหนี้) ของทายาท ภายในระยะเวลา 10 ปี
 
 
กล่าวคือ เมื่อทายาทได้รับมรดกหรือทรัพย์สินจากผู้เสียชีวิตมาแล้ว ก่อนจะนำทรัพย์สินไปใช้ จะต้องนำทรัพย์สินไปชำระหนี้เสียก่อน ถึงจะนำทรัพย์สินไปใช้ได้
 
 
กรณีลูกหนี้ติดคุก
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึง กรณีที่ลูกหนี้ติดคุกนั้น ภาระหนี้จะตกแก่ทายาทหรือไม่? ทนายเจมส์ให้ข้อมูลว่า “หนี้จะไม่ตกแก่ทายาทเหมือนกับกรณีลูกหนี้เสียชีวิต ความรับผิดชอบทั้งหมดจะยังเป็นของลูกหนี้เหมือนเดิม ซึ่งหนี้และดอกเบี้ยจะถูกดำเนินต่อไปแม้ว่าลูกหนี้จะติดคุกก็ตาม โดยเจ้าหนี้สามารถดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดียึดทรัพย์กับลูกหนี้ได้ตามปกติ”
 
 
เมื่อถามว่า ลูกหนี้ที่อยู่ในคุกจะใช้หนี้อย่างไร เพราะไม่มีรายได้ และอาจจะติดอุปสรรคในเรื่องของวิธีการใช้หนี้? ทนายเจมส์ ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า “การที่ลูกหนี้ติดคุก ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาเป็นข้ออ้างในการขอพักหนี้หรือไม่ใช้หนี้ได้”
 
 
โดยเฉพาะเจ้าหนี้บรรดาบัตรต่างๆ ทั้งหลาย ก็จะฟ้องลูกหนี้ให้เป็นคดีแพ่ง โดยเจ้าหนี้จะทำการฟ้องต่อศาลแพ่ง ตามขั้นตอนของกฎหมาย ถึงแม้ว่าตัวของลูกหนี้จะอยู่ในคุกก็ตาม เพื่อให้เกิดกระบวนการสืบทรัพย์และยึดทรัพย์ของลูกหนี้ (ถ้ามี) ต่อไป
 
 
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/V7G0kTdoaVA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง