‘สุนัข’ เจ้าตูบสี่ขาหน้าขน ที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสังคมไทย เสมือนสัตว์คู่ชุมชนที่แทบทุกตรอก ซอกซอยจะต้องมี
บางตัวก็เป็นมิตรกระดิกหางเข้าใส่ ทว่าบางตัวก็แสบสันพยายามสำแดงตนเป็นเจ้าถิ่น แยกเขี้ยวไล่กัดผู้คนที่สัญจรไปมา ยิ่งไปกว่านั้นรถที่จอดอยู่ข้างทางเฉยๆ ก็ไม่วายกลายเป็นที่ฝนเล็บลับคมเขี้ยวให้เป็นรอยสร้างความเดือดร้อนรำคาญอยู่ร่ำไป จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงแก้ไม่ตกว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะมักจะตามตัวเจ้าของไม่เจอ หรือต่อให้เจอก็มักจะงัดไม้เด็ดว่า “เป็นหมาจรจัด” เพื่อปัดความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ เมื่อถูกสุนัขจรจัดกัดจะต้องทำอย่างไร สามารถเอาผิดกับใครได้บ้างนั้น รายการรอดไปด้วยกันมีคำตอบ
#สุนัขจรจัดกัดคนหรือกัดทรัพย์สินเสียหาย ใครรับผิดชอบ?
ในกรณีที่สุนัขจรจัดกัดคนหรือรถ จนได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเสียหายนั้น ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายคือ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรมปศุสัตว์ ที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เกิดเหตุ
เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการดูแลสุนัขจรจัด เพื่อความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 67 และ 68 นั่นเอง
ทราบหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีสุนัขจรจัดสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นแบบนี้หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาที่ อ.1751/2559 ถึงกรณีเจ้าของฟาร์มนกกระจอกเทศ อ้างว่าสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ที่บ่อขยะนั้น เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล การที่ อบต.ละเลยหน้าที่ทำให้สุนัขมารบกวนไล่ต้อน และรุมกัด จนทำให้นกกระจอกเทศเสียหาย มีรายได้จากการประกอบการลดลงนั้น
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งถือว่าสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ 2535 สัตว์จำต้องมีเครื่องหมายประจำตัว เมื่อพบเห็นแล้วโดยไม่ปรากฎเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง
ถ้าไม่มีเจ้าของรับคืนภายใน 5 วัน ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ ตามมาตรา 9 แต่ไม่ดำเนินการในการควบคุมสุนัขจรจัด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสัตว์ หรือเพื่อป้องกันระงับโรคติดต่อ หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 67 และ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดีนั้น
สรุปสั้นๆ ให้คุณเข้าใจง่ายๆ ว่า หากคุณถูกสุนัขจรจัดกัด หรือทำลายทรัพย์สินให้เสียหายแล้วล่ะก็ คุณสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบได้จาก องค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต.ในเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุได้นั่นเอง.
+ อ่านเพิ่มเติม