นานาชาติร่วมกดดันกองทัพเมียนมาปล่อยตัวอองซาน ซูจี โดยทันที ขณะที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ออกแถลงการณ์ในนามซูจี เรียกร้องประชาชนอย่ายอมรับการก่อรัฐประหาร ขอให้ออกมาชุมนุมประท้วง
สถานการณ์ในเมียนมาช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตึงเครียดหนัก ทันทีที่กองทัพบุกควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา และประธานาธิบดีวิน มยินต์ จากบ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เมื่อตอนรุ่งสางของเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.64)
นอกจากบุคคลสำคัญ 2 คนนี้แล้ว ยังมีรัฐมนตรีรัฐอีก 4 คน จากรัฐกะเหรี่ยง, ย่างกุ้ง, ฉานและมอญ และคณะกรรมาธิการบริหารกลางของ NLD อีก 2 คน
จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสถานีโทรทัศน์กองทัพเมียนมา ประกาศว่า กองทัพได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติทั่วประเทศ และจะควบคุมประเทศเป็นเวลา 1 ปี ภายใต้การดูแลของพลเอก มินอ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
โดยเหตุผลหลักเนื่องจากรัฐบาลทำงานล้มเหลวใน 2 เรื่องใหญ่คือ 1.ไม่สามารถจัดการข้อร้องเรียนเรื่องการโกงเลือกตั้ง และ 2.ไม่เลื่อนวันเลือกตั้ง ทั้งๆที่เกิดวิกฤตโควิด-19
ขณะที่ในช่วงบ่าย พรรค NLD ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ในนามซูจี เรียกร้องชาวเมียนมา อย่ายอมรับในการก่อรัฐประหาร ขอให้ออกมาชุมนุมประท้วง เนื่องจากประเทศกำลังถอยหลังกลับไปสู่ยุคเผด็จการ อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า สมาชิกพรรคคนใดเป็นผู้โพสต์
สำหรับบรรยากาศในนครย่างกุ้ง วันนี้ตำรวจเริ่มปิดกั้นเส้นทางที่จะไปยังสนามบินนานาชาติ ขณะที่ประชาชนแห่ถอนเงินตามตู้เอทีเอ็ม หลายคนเริ่มกักตุนอาหาร
ขณะที่นานาชาติ วิตกกังวลสถานการณ์ในเมียนมา โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คัดค้านความพยายามใดๆก็ตาม ที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา และว่า สหรัฐฯจับตาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด
ส่วนนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เมียนมาที่ค่อนข้างเปราะบาง เรียกร้องกองทัพเมียนมา ปล่อยตัวซูจีโดยทันที
ทางด้านรองผู้อำนวยการ ฮิวแมน ไรท์ วอช ประจำภูมิภาคเอเชีย ประณาม การยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเมียนมา และว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลก จะเข้ามากดดัน หรือใช้มาตรการคว่ำบาตรเมียนมา
นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาตอนนี้ เป็นเพราะกองทัพต้องการยุติเส้นทางการเมืองของซูจี จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ ประชาธิปไตยในเมียนมาคืบหน้าไปมาก หลังจากต้องอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพมาถึง 5 ทศวรรษ
+ อ่านเพิ่มเติม