สะเทือนวงการอาหารอีกครั้ง เมื่อโลกออนไลน์ เกาหลี - จีน ได้มีการถกเถียงถึงประเด็นวัฒนธรรมอาหาร อย่าง 'กิมจิ' ว่าใครเป็นต้นกำเนิดกันแน่ ปมสื่อเกาหลีใต้ allkpop รายงานว่า แฮมจี ยูทูเบอร์ชื่อดัง ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีคนกดติดตามในยูทูบมากถึง 5.3 ล้านคน ได้ออกมาเปิดเผยว่า ถูกบริษัทเอเจนซีของจีน เตือนว่าทำผิดข้อบังคับในสัญญา หลังจากพูดว่า 'กิมจิ' เป็นอาหารเกาหลี
ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อน ชาวเน็ตจีนโกรธเคือง เพราะเข้าใจว่าแฮมจีได้กระทำการเหยียดหยามชาวจีน จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโซเชียลมีเดียของจีน จนทางต้นสังกัดของเธอที่เป็นสัญชาติจีนต้องออกมาขอโทษ แต่ก็ยังไม่หยุดเท่านั้น ต่อมาเธอโพสต์ชี้แจงว่า
"ที่กดไลก์คอมเมนต์ดังกล่าว เพราะมันเขียนเริ่มต้นด้วยคำว่า 'ซัม' และที่ไลก์ก็เพราะฉันเชื่อว่า 'กิมจิ' และ 'ซัม' เป็นอาหารของเกาหลี และฉันว่ามันแปลกมาก ๆ ที่มีคอมเมนต์โต้เถียงว่าเป็นของใครกันแน่ ระหว่างจีน หรือเกาหลี ทั้งที่ความจริงมันก็ปรากฏอยู่แล้ว"
จากเหตุการณ์นั้นเอเจนซี่จีนที่ช่วยเธอจัดการช่องของเธอ ในจีนได้ยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 เนื่องจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนชาวจีนเป็นอย่างมาก เธอได้ทำร้ายความรู้สึกของแฟน ๆ ชาวจีนและทำลายความไว้วางใจของบริษัท ซึ่งแฮมจี ได้ออกมาอธิบายถึงสถานการณ์ดังกล่าว และขอโทษกับความเข้าใจผิดในครั้งนี้ ที่ทำให้แฟนๆ ชาวจีนต้องรู้สึกผิดหวัง แต่เธอก็ไม่ต้องการจะโปรโมทที่จีน หากว่าต้องพูดว่า กิมจิเป็นของคนจีน
ทว่าไม่ใช่ แฮมจี เท่านั้นที่เคยประสบกับเหตุการณ์นี้ เพราะในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน 9 มกราคม 2564 หลี่ จื่อชวี่ วีล็อกเกอร์สาวชาวจีน ได้โพสต์คลิปทำอาหาจีน ซึ่งเมนูที่ทำมีลักษณะเหมือนกิมจิ แบบเป๊ะๆ ซ้ำยังมีแฮชแท็กว่า #ChineseCuisine and #ChineseFood หรือ #ตำรับจีนและอาหารจีน ซึ่งทำเอาชาวเน็ตเกาหลีเข้าไปแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก ถึงขั้นขอให้มีการถอดคลิปดังกล่าวออกจากช่อง
แน่นอนนี่ไม่ใช่เพียงแค่ 2 เหตุการณ์ สำหรับประเด็น กิมจิ ระหว่างจีนและเกาหลี เพราะก่อนหน้านี้โลกออนไลน์ของจีน และเกาหลี ต่างออกมาถกเถียงกัน หลังจากสื่อจีนรายงานข่าวว่า เปาฉ่าย (Pao Cai) ซึ่งเป็นผักดองสไตล์จีน ได้รับรองมาตรฐานอย่างเป็นทางการโดยองค์กรระหว่างประเทศ หรือ ISO โดยสื่อใหญ่ของจีนถึงกับพาดหัวข่าวและเผยแพร่ไปทั่วว่า “เป็นการรับรองมาตรฐานสากลสำหรับอุตสาหกรรมกิมจิที่จีนเป็นผู้นำ” แม้ ISO จะระบุชัดว่าไม่รวมถึงกิมจิของเกาหลีก็ตาม
ประเด็นนี้ทำให้เกิดการเปิดศึกรุนแรงระหว่างชาวเน็ตชาวจีนและเกาหลีใต้ โดยชาวโสมขาวต่างระบุว่า จีนพยายาม "ขโมย" วัฒนธรรมของเกาหลี ซึ่งอาจไม่หยุดอยู่แค่อาหารอย่างกิมจิเท่านั้น จนร้อนถึงกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้มีคำแถลงออกมาว่า การที่ผักดอง 'เปาฉ่าย' ของมณฑลเสฉวนผ่านการรับรองของ ISO ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผักดองกิมจิของเกาหลี และควรมีการแยกแยะอาหารสองเมนูนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน
ทั้งนี้เมื่อปี 2013 ยูเนสโก ได้ประกาศให้ “กิมจิ” ของเกาหลีใต้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเภทที่จับต้องไม่ได้ ของประเทศนี้ และยัง เพิ่มกิมจังซึ่งเป็นกิจกรรมการทำ “กิมจิ” ของชุมชนในเกาหลี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชนิดเดียวกันนี้อีกด้วย โดยในรายงานการรับรองดังกล่าวรับ “กิมจัง”เป็นส่วนสำคัญของอาหารเกาหลี การก้าวข้ามชนชั้นและความแตกต่างในภูมิภาค การปฏิบัติโดยรวมของกิมจังเป็นการยืนยันความเป็นเกาหลี และเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการเสริมสร้างความร่วมมือในครอบครัว
สำหรับ กิมจิ ตามแหล่งข้อมูลระบุว่า ได้มีบันทึกจากหนังสือประวัติศาสตร์จีนกล่าวไว้ว่า ในยุคแห่งสามก๊ก อาหารหมักดองเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายซึ่งชาวโคกูรยอ (คนเกาหลี) มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง ได้มีการทำไวน์ ทเว็นจัง (เต้าเจี้ยวเกาหลี) ปลาเค็มและปลาหมัก แถมยังมีการค้นพบ "ฮันยักกูกึบบัง" ตำรายารักษาโรคทางภาคตะวันออก ที่กล่าวว่า มีกิมจิ 2 ชนิด อย่างแรกคือ กิมจิ-จางอาจิ เป็นหัวผักกาดฝานเป็นแผ่นๆ ดองด้วยซอสถั่วเหลือง ชนิดต่อมาคือ ซุมมู โซกึมชอรี เป็นกิมจิที่ถูกปรุงจนรสจัดจ้านขึ้น และเริ่มที่จะได้รับความนิยมจนชาวโคกูรยอมีการทำกันตลอดทั้งปี ทั้งที่เมื่อก่อนจะทำกิมจิแค่เฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น
นอกจากนั้นในช่วงราชวงศ์ซิลลา กิมจิก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน เนื่องจากสมัยนั้นศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทในอาณาจักรมากขึ้น เรียกได้ว่าครอบคลุม ซึ่งส่งเสริมเรื่องการรับประทานมังสวิรัติ ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ต่อมาในสมัยโชซ็อน ลือกันว่าชาวบ้านจะใช้ผักใบเขียวดองกับเกลือ หรือเหล้า ไม่มีการใส่พริกแต่อย่างใด แต่หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานในปี พ.ศ. 2135 (ช่วงต้นศตวรรษที่ 17) ก็เริ่มมีผักต่างชาติเข้ามาในเกาหลี พริกแดงจากญี่ปุ่นที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำเข้ามา ได้กลายมาเป็นส่วนผสมหลักในการทำกิมจิ หลังจากนั้นราวปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อนกิมจิจึงมีสีแดงเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน
ขณะที่ในอีกมุม เปาฉ่าย (Pao Cai) ซึ่งเป็นผักดองสไตล์จีน ชนิดของผักดองมักจะทำโดยใช้กะหล่ำปลี, ผักกาด, ถั่วฝักยาว, พริกไทย, แครอท และขิง มักจะพบในจีนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเสฉวน พบมากที่สุดในภาคเหนือและภาคตะวันตกของจีน แต่ยังมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของ เปาฉ่าย เรียก Cai suan ซึ่งเป็นที่โดดเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ชาวจีนมักกินผักดองชนิดนี้กับโจ๊กเป็นอาหารเช้ายอดนิยม
มีหลักฐานการกินผักดองในจีนปรากฏขึ้นครั้งแรกช่วงราชวงศ์ซางและราชวงศ์โจว(ประมาณ 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 256ปีก่อนคริสต์ศักราช)ในตำราเก่าแก่ของจีนมีปรากฏบทกลอนที่พูดถึงการดองผักลู่ แตง และกะหล่ำปลี บ่งชี้ว่าชาวจีนเมื่อ 3,100 ปีก่อน เริ่มนำเกลือมาใช้ถนอมอาหาร จนเกิดต้นแบบผักดองชนิดแรกของโลก ได้แก่ เยียนจื้อช่าย (腌渍菜 – ผักดองเกลือ)
กระทั่งในสมัยเว่ยเหนือ (ค.ศ. 386-534)นักการเกษตรชื่อดังของจีน ได้บันทึกวิธีทำเปาฉ่ายที่ได้มาตรฐานที่สุดเอาไว้ในฉีหมินเย่าซู (齐民要术)หนังสือความรู้พื้นบ้านของชาวฉี ระบุว่า “ให้นำผักมาล้างด้วยน้ำเกลือ และดองผักลงในไหที่มีน้ำเกลือ” นอกจากนี้ยังพบข้อความเกี่ยวกับการนำดินเหนียวมาปิดปากไหดองเอาไว้ ซึ่งเป็นกรรมวิธีการดองอาหารโดยใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์
เปาฉ่าย ได้ตกทอดมาถึงในราชวงศ์หยวนและหมิง ในช่วงนั้นเครื่องไม้เครื่องมือพัฒนาอย่างมาก วัฒนธรรมการดองผักเริ่มเอ่ยถึงวิธีดองหัวไชเท้าแห้ง และกระเทียม พอเข้าสู่ช่วงราชวงศ์ชิง วัตถุดิบในการทำผักดองเริ่มมีหลากหลายขึ้น เคยมีบันทึกวิธีการดองผักกว่า 20 ชนิด ในสมัยนั้นเปาฉ่ายยังเกี่ยวข้องกับพิธีงานแต่งงานของชาวเสฉวนบางพื้นที่ โดยพ่อแม่ของเจ้าสาวจะนำไหดองผักใบใหญ่มาเป็นของหมั้นของฝ่ายหญิง สื่อถึงความอยู่ดีมีสุข ไม่อดอยากขาดแคลน
หากมองข้ามในเรื่องของประเด็นดราม่านี้ไป จะเห็นได้ว่าการนำเอาพืชผักมาดองเก็บเอาไว้ ถือเป็นวิธีการถนอมอาหารที่ได้รับความนิยม และมีมาอย่างช้านาน ซึ่งในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคก็มีวิธีที่เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันไปบ้าง แต่นับเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของมนุษย์ และวิวัฒนาการด้านความอร่อยที่สืบต่อกันมาอย่างปฏิเสธไม่ได้