#เรียนรู้จากดราม่า โซเชียลเสียงแตก อบต.ไล่บี้ภาษี เหตุร้านเสริมสวยติดป้ายในบ้านตัวเอง
logo TERO HOT SCOOP

#เรียนรู้จากดราม่า โซเชียลเสียงแตก อบต.ไล่บี้ภาษี เหตุร้านเสริมสวยติดป้ายในบ้านตัวเอง

TERO HOT SCOOP : การติดป้ายร้านนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้ามักจะมีไว้เพื่อโฆษณาและแสดงชื่อร้าน เพราะการติดป้ายมีประโยชน์ทั้งในแง่ช่วยประชา ภาษีป้าย,ภาษี,เสียภาษี,ติดป้ายหน้าบ้าน,ป้ายไวนิล,ป้ายโฆษณา

1,470 ครั้ง
|
15 ม.ค. 2564
การติดป้ายร้านนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้ามักจะมีไว้เพื่อโฆษณาและแสดงชื่อร้าน เพราะการติดป้ายมีประโยชน์ทั้งในแง่ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ, ช่วยให้เกิดการจดจำชื่อร้านและสินค้าที่ขาย หรือแม้กระทั่งช่วยตกแต่งหน้าร้าน
 
ทั้งนี้ หลายคนยังไม่ทราบว่า ถ้าเราจะติดป้ายใดๆ ก็ตาม นอกจากเราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำป้ายแล้ว แต่เรายังมีอีกค่าใช้จ่ายอีกประการหนึ่งที่ต้องจ่าย นั่นก็คือ ภาษีป้าย! 
 
แน่นอน เรื่องนี้หลายคนสงสัยมานานว่า ป้ายที่เห็นตามข้างทาง หรือตามสถานที่ต่างๆ เจ้าของป้ายเหล่านี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่, วิธีคิดภาษีป้ายนั้น คิดอย่างไร, ป้ายแบบไหนไม่เสียภาษี, และถ้าไม่เสียภาษีจะมีโทษอย่างไร 
 
โดยก่อนหน้านี้ มีคลิปวิดีโอเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าของร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง กำลังต่อว่าและตัดพ้อเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยความโมโหว่า ทำไมทาง อบต.ต้องไล่บี้เก็บภาษีป้ายกับเธอ ทั้งๆ ที่ป้ายที่เธอติดนั้น ก็ติดอยู่ในรั้วบ้านของตัวเอง ป้ายก็มีขนาดเล็ก ร้านของเธอก็อยู่ในซอยเล็กๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ และช่วงนี้ก็เป็นช่วงโควิด เธอได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ลูกค้าก็ไม่มี แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งเธอว่า ถ้าไม่เสียภาษีก็ให้เอาป้ายออก
 
ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า โลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นแตกออกเป็นหลายฝั่งหลายฝ่าย บ้างก็แสดงความเห็นว่า ช่วงนี้ชาวบ้านประสบพบเจอกับมรสุมโควิด-19 เจ้าหน้าที่รัฐก็ควรจะมีมาตรการผ่อนปรนให้กับประชาชนบ้าง ในขณะที่อีกฝ่ายมองต่างมุมว่า ภาษีป้ายเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเสียภาษีและเป็นสิ่งที่ยึดปฏิบัติตามกฎหมายกันมานาน ไม่ควรมีใครได้รับการยกเว้น เพราะอาจเกิดความไม่เท่าเทียมกันได้
 
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เราจะพาไปตอบคำถามข้างต้นที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า ป้ายที่เห็นตามข้างทาง เจ้าของป้ายเหล่านี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่, วิธีคิดภาษี คิดอย่างไร, ป้ายแบบไหนไม่เสียภาษี, และถ้าไม่เสียภาษีจะมีโทษอย่างไร 
 
-อยากติดป้าย ติดได้เลยไหม หรือต้องแจ้งหน่วยงานรัฐก่อนถึงติดได้?
สำหรับใครที่เพิ่งมีป้ายเป็นของตัวเอง หลังจากที่ได้ป้ายมาจากร้านรับทำป้ายเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำป้ายไปติดตั้ง ท่านควรแจ้งขนาดของป้าย ภาพถ่ายหรือภาพสเก็ตของป้าย พร้อมด้วยแผนผังที่ตั้งของบริเวณที่ต้องการจะติดตั้งป้าย เพื่อนำมาขออนุญาตติดตั้งกับทางสำนักงานเขตเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่อาศัยอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบก่อนว่าลักษณะของป้ายนั้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ เช่น ติดตั้งป้ายในบริเวณที่คร่อมถนน ใกล้เสาไฟฟ้า ถนน ต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วหากใช้บริการจากร้านทำป้าย ส่วนมากทางร้านจะดำเนินการขอใบอนุญาตให้กับเราได้ด้วย
 
 
- อยากติดป้ายต้องเสียภาษีเท่าใด?
เมื่อติดป้ายแล้ว เจ้าของป้ายต้องเสียภาษีโดยเสียเป็นรายปี ส่วนจะต้องเสียภาษีป้ายเท่าใดนั้น มีวิธีการคำนวณดังนี้ 
 
การคำนวณภาษีป้าย คิดจากพื้นที่ป้ายเป็นตารางเซนติเมตร โดยป้ายที่มีขอบเขตป้ายชัดเจน ให้ใช้ด้านกว้างสุด x ด้านยาวสุด ส่วนป้ายที่กำหนดขอบเขตไม่ชัดเจน ให้นับจากขอบเขตของตัวอักษรที่อยู่ริมสุด แล้วคำนวณตามตารางเซนติเมตร
 
โดยล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้อัปเดตอัตราค่าภาษีป้าย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป ดังนี้
 
- ป้ายประเภท 1 เป็นป้ายที่มีแต่อักษรไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับป้ายที่ไม่มีข้อความเคลื่อนที่/ข้อความเปลี่ยนไม่ได้ ให้คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. ส่วนป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่/เปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
 
- ป้ายประเภท 2 เป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ, ปนกับภาพหรือปนกับเครื่องหมายอื่น สำหรับป้ายที่ไม่มีข้อความ เคลื่อนที่/ข้อความเปลี่ยนไม่ได้ ให้คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. ส่วนป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่/เปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
 
- ป้ายประเภท 3 เป็นป้ายที่ไม่มีอักษรไทยหรือเป็นป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรืออยู่ต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ สำหรับป้ายที่ไม่มีข้อความเคลื่อนที่/ข้อความเปลี่ยนไม่ได้ ให้คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. ส่วนป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่/เปลี่ยนเป็นข้อ ความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
 
เมื่อได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีป้ายแล้ว ให้ดำเนินการชำระภาษีป้ายภายใน 15 วัน โดยสามารถชำระเงินได้ที่สำนักงานเขต (ฝ่ายรายได้) หรือที่ธนาคารกรุงไทย หรือชำระผ่าน ATM ธนาคารกรุงไทย และ Internet Banking ธนาคารกรุงไทย
 
- ป้ายแบบใด ไม่ต้องเสียภาษี?
อย่างไรก็ตาม ยังมีป้ายที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีด้วยเช่นกัน 
1.ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
2.ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่บรรจุสินค้า
3.ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
4.ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
5.ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า หรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตร.ม.ที่กำหนดในกฎกระทรวง 
6.ป้ายของทางราชการ
7.ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
8.ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน
9.ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
10.ป้ายของวัด สมาคม มูลนิธิ
11.ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ
ก.ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
ข.ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
ค.ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร
 
- ไม่เสียภาษีป้าย มีความผิดหรือไม่?
หากใครที่ไม่ได้ไปเสียภาษีป้าย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย ปี 2510 ซึ่งระบุว่า หากจงใจไม่ยื่นแบบประเมินภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือหากไม่เสียภาษีป้ายภายในวันที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท และหากไม่แจ้งการรับโอนป้าย หรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้าย ณ สถานประกอบการค้าหรือสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง