สรุปสถานการณ์ โควิด19 ทั่วไทย ประจำวันที่ 12 ม.ค.64
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

สรุปสถานการณ์ โควิด19 ทั่วไทย ประจำวันที่ 12 ม.ค.64

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : - โควิดวันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 287 ราย ป่วยสะสม 10,834 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 64 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศู โควิด19,สรุปสถานการณ์ โควิด19,นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน,บิ๊กตู่,วัคซีนป้องกันโควิด-19,อนุทิน,หนี้ครัวเรือน,ยอดผู้ติดเชื้อ

209 ครั้ง
|
13 ม.ค. 2564
- โควิดวันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 287 ราย ป่วยสะสม 10,834
 
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 64 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยพบจำนวน ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 287 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 278 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย
 
รวมยอดผู้ป่วยสะสม 10,834 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 คน ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,732 ราย และผู้ป่วยที่รักษาอยู่ 4,035 ราย
 
- "บิ๊กตู่" ย้ำ คนไทย จะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรี ทุกคน
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมครม. ประจำวันที่ 12 ม.ค. 2564 ว่า ความคืบหน้าเรื่องวัคซีน โควิด-19 รัฐบาลขอยืนยันว่า คนไทยทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดทำแผนในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง และเพียงพอ เนื่องจากวัคซีนจะทยอยเข้ามา ตั้งแต่เดือนก.พ. ซึ่งคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็ต้องมีการพิจารณาฉีดบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุดก่อน
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลผลักดันลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขยายเวลาลดภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง มอบหมายให้คลังพิจารณาเสนอครม.ต่อไป ส่วนเรื่องการตั้งกรรมการตรวจสอบเอาผิด เรื่องบ่อนการพนัน สิ่งผิดกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำลังดำเนินการอยู่ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 ชุด ส่วนเรื่องการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิด ยันประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ สายด่วนรัฐบาล-ตู้ ปณ.-เว็บไซต์ โมบาย 1111 ซึ่งผมจะเป็นผู้ดูเรื่องที่แจ้งมาเอง
- ถกกันสนั่นเมือง! พวกลักลอบข้ามแดน นำเข้าต้างด้าวผิดกฎหมาย ควรจ่ายค่ารักษาโควิดเองหรือไม่?
กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันสนั่นหวั่นไหว และเป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว 
 
เมื่อคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีสาธารณสุข หยิบยกประเด็น “การยกเลิกการรักษาโควิด-19 ฟรี ให้กับคนผิดกฎหมายเล่นการพนัน และ คนต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง” มาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กว่า
 
“เป็นประเด็นชวนคิด ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าคนไทย หรือคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศ ต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสาธารณสุข ไม่มีการปฏิเสธการรักษา
 
แต่! ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้กระทำความผิด ละเมิดกฎหมาย ลักลอบข้ามแดน หรือ นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค มีกฎหมายบัญญัติอยู่แล้ว วันนี้กระทรวงสาธารณสุขมีภาระค่าใช้จ่าย ต้องตรวจรักษาผู้ลักลอบข้ามแดน ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งก็คือ งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน และเงินกู้ที่คนไทยต้องชดใช้นั่นเอง นี่คือประเด็นที่เสนอให้ช่วยกันคิดครับ”
 
ต่อมาจันทร์ที่ 11 มกราคม คุณอนุทิน ได้โพสต์อีก โยมีใจความโดยสังเขปว่า วันนี้พ้นการกักตัว เข้าประชุม คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 07.30 น. ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลการควบคุมโรคที่มีแนวโน้มได้ผลดีในหลายพื้นที่ และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการผ่อนปรนทำกิจกรรมต่างๆในจังหวัด หรือพื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ และพื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมาอย่างน้อย 7-14 วัน ติดต่อกัน น่าจะเป็นกำลังใจและเป็นความหวังให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ การค้าขาย ก็น่าจะกลับมาได้ อาจจะไม่เหมือนเดิม น่าจะดีกว่าถูกจำกัดหลายๆเรื่องในขณะนี้
 
สำหรับประเด็น ภาระค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายโรคติดต่อมาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ ปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น ในการประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันนี้ ได้มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิจารณาแล้ว 
 
พร้อมย้ำว่า ผู้ป่วยทุกคนในประเทศไทย ต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข ไม่ใช่การทำงานแบบ “วัวหายล้อมคอก” หรือ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นการเสนอให้ภาคประชาชนช่วยกันคิด เพื่อป้องกันการระบาดรอบสาม โดยมีสาเหตุ “ซ้ำรอยเดิม เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ” คือ ปล่อยให้มีการลักลอบนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศอีก
 
- “โควิด-19” ทำคนไทยทุกข์หนัก หนี้ครัวเรือนทะลักสูงสุดเป็นประวัติการณ์
 
หอการค้าไทยชี้โควิด-19 ทำคนไทยมีหนี้ครัวเรือนปีที่ผ่านมา อยู่ที่ครัวเรือนละ 4.8 แสนบาท เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2562 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังคนตกงาน รายได้หด ค่าครองชีพพุ่ง หันก่อหนี้เพิ่มทั้งรูดบัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และยังเคยผิดนัดชำระหนี้
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2563 ที่สำรวจจากประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศ 1,229 ราย ระหว่างวันที่ 18-27 ธ.ค. ว่า ผู้ตอบมากถึง 90.7% บอกว่ามีหนี้สิน มีเพียง 9.3% ที่บอกไม่มีหนี้ โดยหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนสูงถึงครัวเรือนละ 483,950 บาท เพิ่มขึ้น 42.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบจากปี 2562 ที่มีมูลหนี้ 340,053 บาท เพราะค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 
 
รวมทั้งประชาชนขาดรายได้จากการให้ออกจากงาน และมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ผ่อนสินค้ามากเกินไป มีค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น โดยจำนวนหนี้ มีภาระผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 11,799 บาท
 
โดยปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นหนี้ในระบบ 75.3% นอกระบบ 24.7% เทียบจากปี 2562 ที่มีหนี้ในระบบ 59.2% นอกระบบ 40.8%
 
ทั้งนี้ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบมากถึง 56.5% บอกว่าเคยขาดผ่อนชำระหนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีมากที่สุด ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง และในจำนวนหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ผู้ตอบ 70% เป็นการก่อหนี้ใหม่ เป็นผลมาจากโควิด-19 และคาดว่า ในรอบ 1 ปีนี้ ผู้ตอบมากถึง 54.8% บอกต้องการกู้เพิ่ม เพื่อนำไปใช้จ่ายทั่วไป ลงทุนประกอบธุรกิจ ซื้อบ้าน ชำระหนี้เก่า
 
“เมื่อถามถึงประเภทหนี้ ผู้ตอบ 40.3% บอกเป็นหนี้บัตรเครดิต, 34.7% หนี้ส่วนบุคคล (อุปโภคบริโภค), 34.6% หนี้ยานพาหนะ, 30.7% หนี้ประกอบธุรกิจ, 28.9% หนี้ที่อยู่อาศัย และ 12.5% หนี้การศึกษา”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง