ปัญหาของคนทำงานสมัยนี้ โดยเฉพาะวัย 30+ ที่ทำงานมานานแล้ว แต่ยังไม่มีเงินเก็บเป็นเรื่องเป็นราวสักที หลายคนใช้ชีวิตกันแบบเดือนชนเดือน หักค่าบ้าน ค่ารถ ก็แทบไม่มีเหลือ ยิ่งมาเจอวิกฤตโควิดยิ่งทำให้การเงินติดลบ ทำให้ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย วันนี้เรามีเคล็ดลับการออมเงิน ที่จะทำให้คุณมีเงินเก็บ
เริ่มแรกเราต้องมาวิเคราะห์หาเหตุผลที่ทำให้เราไม่มีเงินเก็บกันก่อน หลายคนหมดไปกับเรื่องกินเที่ยว ใช้เงินมือเติบ โดยเฉพาะเหล่าเจนวาย มักหมดไปกับของมันต้องมี โดยที่บางอย่างไม่ใช่เรื่องจำเป็น เช่น ซื้อมือถือรุ่นล่าสุด ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม อะไรฮิต อะไรใหม่จะต้องมีไว้โพสต์ลงโซเชียล จนก่อให้เกิดหนี้บัตรเครดิตที่บางคนไม่ได้จ่ายเต็ม ก็โดนบวกดอกเบี้ยแพงหูฉี่ไปอีก
นอกจากนี้ยังมีภาระเรื่องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเลี้ยงดูลูก ไม่มีการจดบันทึกรายรับรายจ่าย ทำให้ไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ไม่เห็นภาพเกี่ยวกับการใช้จ่ายและความสามารถในการหาเงิน รายรับและรายจ่ายไม่บาลานซ์กัน
นอกจากนี้บางคนยังจัดสรรเงินลงทุนไม่เหมาะสม เงินเก็บส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินฝาก เพื่อสะดวกกับการถอน ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่มีดอกผลงอกเงยเท่าที่ควร
ทั้งนี้การเก็บออมเงิน ควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรก เพื่อใช้ยามฉุกเฉินในยามป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนที่สอง เพื่อใช้สร้างครอบครัว เช่น ซื้อบ้าน แต่งงาน ค่าเลี้ยงดูลูก
ส่วนสุดท้าย เพื่อการชีวิตในวัยเกษียณ
สำหรับเคล็ดลับการออมเงินที่เรานำมาฝาก ถือเป็นวิธีที่อยู่ในทางสายกลาง ไม่ตึงจนเกินไป มีหลักดังนี้
-ออมก่อน ใช้ทีหลัง
เมื่อเราได้เงินเดือน หรือรายได้จากทางอื่นๆเข้ากระเป๋า แนะนำให้หักเงินส่วนหนึ่ง ประมาณ 10% เช่น หากเรามีเงินเดือน 20,000 บาท เราแบ่งเงินเก็บเลย 10% เป็นเงิน 2,000 บาท เข้าสู่บัญชีเก็บออมทั้งในรูปแบบบัญชีเงินฝาก หรือซื้อกองทุนรวม ซื้อทองคำ ซื้อประกันชีวิต เพื่อความมั่นคงในอนาคต
-เริ่มออมเร็ว
หากใครเริ่มทำงาน แล้วอยากสบายไว ก็ต้องเริ่มออมเงินให้เร็ว โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน ภายในอายุ 30 ปี จะมีเงินเก็บเท่านี้ ยิ่งออมเร็วก็ยิ่งถึงเป้าหมายเร็ว แต่ถ้าผลัดวันประกันพรุ่ง ก็ยิ่งทำให้เป้าหมายของเราช้าไปอีก
-เลือกหักเงินอัตโนมัติ
เลือกใช้วิธีเก็บเงินที่หักจากเงินเดือนของเราแบบอัตโนมัติ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เงินเดือน หรือการหักเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของเหล่าข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีการเปิดบัญชีฝากแบบพิเศษ ที่ต้องฝากเงินเท่ากันทุกเดือน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เราได้ออมเงินได้อัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องสัมผัสเงิน ลดความเสี่ยงที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องอื่น
-ตัดรายง่ายไม่จำเป็น
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เงินกันแบบเดือนชนเดือน ขอแนะนำให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อเห็นภาพการเงินที่เข้ามา และเงินที่ออกไปอย่างชัดเจน เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เงินใช้ไม่พอเพราะมีรายจ่ายมากเกินไป ให้แก้ที่กำจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้ง หรือลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยลง เพื่อให้เราได้มีเงินเก็บมากขึ้น
เชื่อหรือไม่ว่ามีผลสำรวจเคยระบุว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายปริศนาสูงถึง 72% ของรายจ่ายทั้งหมด คิดเป็นเงินหลายพันบาทเลยทีเดียว โดยระบุไม่ได้ว่าจ่ายไปกับอะไร ซึ่งการจดบันทึกรายรับรายจ่าย จะทำให้เรารู้ว่าเงินเรารั่วไหลไปกับสิ่งใด ซึ่งการจดรายรับรายจ่ายสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องจดลงสมุดใช้เครื่องคิดเลขนั่งจิ้มบวกลบแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชันรายรับรายจ่ายให้เลือกใช้ในมือถือจำนวนมากเลยทีเดียว
-เลือกลงทุนอย่างฉลาด
เงินเก็บในบัญชี อย่าเก็บไว้เฉยๆ เพราะจะเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น 10 ปีก่อน ก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท แต่ตอนนี้ 40 บาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าของเงินลดลง เราจะต้องนำเงินเก็บไปลงทุนเพิ่มให้งอกเงย เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ แต่ทั้งนี้หากเราต้องการผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงในการลงทุนก็จะสูงตามไปด้วย จึงต้องเลือกการลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง และศึกษาให้ดีว่ายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งกองทุน ตราสารหนี้ สลากออมสิน หุ้น คอนโด ทองคำ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สรุปได้ว่าการมีวินัยทางการเงิน การมีเงินเดือนมาก ไม่ใช่การการันตีว่าคุณจะมีเงินเก็บมาก เพราะหากคุณไม่มีวินัยและฟุ่มเฟือย ก็ทำให้คุณบริหารจัดการเงินได้แย่กว่าคนมีเงินเดือนน้อยกว่าเสียอีก ดังนั้นเราต้องฉลาดในการใช้เงิน และบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่นี้การมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณหรือยามฉุกเฉินก็จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป