ลาออกจากงาน แต่ยังไม่ได้งาน มีช่องทางไหน ได้เงินติดมือมาบ้าง?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

ลาออกจากงาน แต่ยังไม่ได้งาน มีช่องทางไหน ได้เงินติดมือมาบ้าง?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจลาออก ก็จะมีทาง 2 ทาง คือหางานใหม่ให้ได้ก่อนลาออก กับอีกอย ประกันสังคม,ตกงาน,ลาออก,หางาน

4,701 ครั้ง
|
04 ธ.ค. 2563
ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจลาออก ก็จะมีทาง 2 ทาง คือหางานใหม่ให้ได้ก่อนลาออก กับอีกอย่างคือสุดทน ยอมลาออกจากงานแล้วค่อยไปหางานใหม่ หรือไปตายเอาดาบหน้า
 
ซึ่งการได้งานใหม่แล้วค่อยลาออก ถือเป็นวิธีที่เซฟที่สุด เพราะชีวิตยังมีแผนรองรับ มีงานพร้อมรอ การเงินไม่กระทบ แต่หากเลือกลาออกแบบยังไม่ได้งานใหม่ ถือว่าเป็นวิธีที่เสี่ยงและกดดันเลยทีเดียว เว้นแต่คุณจะเพิ่งเรียนจบใหม่ ครอบครัวยังซัพพอร์ตได้ ยังไม่มีภาระหนี้สินใดๆ แต่หากทำงานมาหลายปี มีภาระหนี้สิน  ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเทอมลูก ฯลฯ โดยที่ไม่มีงานเสริม หรือรายได้อื่นๆรองรับ การลาออกแบบนี้ทำให้คุณมีรายรับติดลบทันที
 
แต่หากเป็นทางที่ต้องเลือกจริงๆ ที่ต้องลาออก ก็ยังมีมาตรการที่ยังช่วยเหลือได้บ้าง อาทิ  
 
หากเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลาออกแล้ว นายจ้างก็จะยุติการจ่ายเงินสมทบให้กับเรา หรือเท่ากับสมาชิกกองทุนของเราได้สิ้นสุดลง เราจะได้รับเงินจากกองทุนเต็มจำนวน ประกอบด้วยเงินที่เราถูกหักจากเงินเดือนเข้ากองทุน เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ที่งอกเงย ถ้าทำงานมานานๆ ก็จะได้รับเงินก้อนใหญ่ไปตั้งตัวได้เลยทีเดียว แต่ว่าเงินในส่วนนี้จะต้องถูกนำไปคำนวณภาษีของปีนั้นด้วย เพราะถือเป็นรายได้ของเรา
 
นอกจากนี้ เรายังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมกรณีว่างงาน โดยมีเกณฑ์คือต้องเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน และจะต้องอยู่ในสภาพว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป ถ้าเราหางานใหม่ไม่ทัน เราย่อมได้สิทธิรับเงินชดเชยแน่นอน แต่หากมีงานทำต่อเนื่องทันทีหลังจากว่างงาน จะไม่ได้เงินชดเชยในส่วนนี้
 
โดยได้รับเงินทดแทนปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท 
 
ยกตัวอย่างเช่น นายเอ มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท ได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ฉะนั้น นายเอจะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
 
นายบีมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท ได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ฉะนั้น นายบีจะได้รับเดือนละ 4,500 บาท
 
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถขึ้นทะเบียนว่างงานของสำนักงานจัดหางานผ่านอินเทอร์เน็ตที่ https://empui.doe.go.th/auth/index ภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดสัญญาจ้าง จะทำให้เราได้รับประโยชน์จากเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยเขาจะนับให้ตั้งแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
 
เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้วก็เตรียมเอกสารเพื่อไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมที่สะดวก โดยเอกสารที่ต้องนำติดตัวไปดังนี้
 
-แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน หรือ สปส. 2-01/7
-บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
-รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
-หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09)
-หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
-สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีชัดเจน 
 
หลังจากที่เรายื่นเอกสารเสร็จแล้วจะมีจดหมายนัดให้มารายงานตัวเดือนละครั้ง เป็นจำนวน 6 ครั้ง (เดือนละครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน) โดยสามารถรายงานตัวได้ก่อนวันนัดหมาย 7 วัน และหลังวันนัดหมาย 7 วัน หากลืมรายงานตัวเดือนใดอาจจะทำให้เราไม่ได้ค่าชดเชยในเดือนนั้นได้
 
โดยระหว่างนี้เราสามารถหางานใหม่ แต่หากยังไม่มีงานที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานจะประสานงานส่งฝึกอบรมแรงงานตามความจำเป็น แต่หากเราได้งานใหม่ หรือปฏิเสธการฝึกงานที่จัดหาให้ และไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด สำนักงานประกันสังคมจะงดจ่ายประโยชน์ทดแทนทันที
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานประกันสังคมทุกแห่ง หรือเว็บไซต์ https://www.sso.go.th และสายด่วน 1506 
 
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/4BFokA8xYFg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง