นักเรียนเลว นัดสวมชุดไปรเวท #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ โซเชียลเสียงแตก 3 ทาง
logo ข่าววันใหม่

นักเรียนเลว นัดสวมชุดไปรเวท #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ โซเชียลเสียงแตก 3 ทาง

ข่าววันใหม่ : เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 เพจ “นักเรียนเลว” ได้โพสต์ว่า “ในที่สุดเราก็มีที่หยัดยืน สลัดทิ้งเครื่องแบบขมขื่นที่ล้าหลัง มาร่วมแต่งไปรเวท กลุ่มนักเรียนเลว,ภาคีนักเรียนKKC,1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ

4,221 ครั้ง
|
29 พ.ย. 2563
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 เพจ “นักเรียนเลว” ได้โพสต์ว่า “ในที่สุดเราก็มีที่หยัดยืน สลัดทิ้งเครื่องแบบขมขื่นที่ล้าหลัง มาร่วมแต่งไปรเวทอย่างเสรีมีพลัง จุดไฟหวังสร้างโลกใหม่ให้โสภี นักเรียนผู้ขบถต่อกฎระเบียบล้าหลังทั้งหลาย 1 ธันวานี้ จงโยนเครื่องแบบทิ้งไป และแต่งกายอย่างที่ตนเองพอใจมาโรงเรียน”
 
โดยก่อนหน้านี้ เพจภาคีนักเรียนKKC ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เชิญชวนนักเรียนไทย ให้ใส่ชุดไปรเวทไปเรียนในช่วงวันเปิดเทอมนี้ โดยระบุว่า
 
“นักเรียนทุกคนจงอย่ากลัวที่จะตั้งคำถามกับการมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียน เราขอเชิญชวนให้พี่น้องนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนเพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าชุดนักเรียนนั้นสำคัญจริงหรือ
-หากใส่ชุดไปรเวทไปครูจะไม่ให้เราเข้าเรียนเพียงเพราะเราไม่ได้ใส่เครื่องแบบ?
-สุดท้ายแล้วเราไปเรียนเพื่ออะไรกันหากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียนคือเครื่องแบบนักเรียน?
-หากนักเรียนไม่มีเงินมากพอจะซื้อชุดนักเรียน=ไม่มีสิทธิเข้าเรียนหรอ?
-หากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เรามาทดลองกัน
 
ถ้าปล่อยให้ 10 คนใส่ชุดไปรเวท 10 คนนั้น อาจถูกทำโทษแต่หากนักเรียนทั้งโรงเรียนใส่ชุดไปรเวท ทุกคนลองคิดภาพว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง
 
1ธันวาคม ร่วมกันแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน โตแล้วใส่อะไรก็ได้”
 
ทีมข่าวตรวจสอบไปที่เพจกลุ่มนักเรียนมัธยม และผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นนักเรียนมัธยมจำนวนมาก ที่ติดแฮชแท็ก #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ และ #Firstdayบอกลายูนิฟอร์ม โดยมีการแสดงความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และเสนอทางออกสายกลาง
 
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นแนวทางเสนอ ระบุว่า ข้อเสนอ 4 ทางเลือก 1.ให้สวมชุดนักเรียน 1 วันต่อสัปดาห์ 2.แต่งชุดนักเรียนแต่จะสวมหรือไม่สวมก็ได้ 3.เหลือเครื่องแบบบังคับเสื้อนักเรียน หรือกระเป๋านักเรียน หรือ 4.ยกเลิกทั้งหมด
 
ผู้โพสต์ยังระบุอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของนักเรียนหญิง คือกระโปรง เพราะหลายคนรู้สึกถึงความไม่คล่องตัว รวมถึงรู้สึกไม่มั่นใจ 
 
ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง เสนอว่า อยากให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้แต่ปรับแต่งดีไซน์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรวมไปถึงเรื่องราคา ส่วนชุดที่ไม่สนับสนุน คือชุดลูกเสือ-เนตรนารี เนื่องจากว่านักเรียนหลายคนมองว่าเป็นวิชาที่ไม่จำเป็น ส่วนกรณีการแต่งชุดไปรเวท ไม่จำเป็นต้องสวมทุกวัน อนุโลมให้สวมได้ 1-2 วันต่อสัปดาห์
 
ขณะเดียวกันมีนักเรียนมัธยมรายหนึ่ง เผยแชทข้อความไปถึงครูผู้สอนเพื่อสอบถามว่าการแต่งกายชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ทำได้หรือไม่ ซึ่งครูได้ให้คำตอบว่า ทำได้ แต่ให้ใคร่ครวญดีๆ เพราะว่าเป็นสิทธิ
 
ล่าสุด เพจนักเรียนเลวโพสต์ระเบียบการลงโทษนักเรียน ระบุว่า การแต่งกายชุดไปรเวทหากเป็นการผิดกฎสถานศึกษา ทางโรงเรียนสามารถลงโทษได้ 4 วิธี และไม่มีการไล่ออก นอกจากนี้ยังอ้างอิงสถิติปี 2561 พบนักเรียนขาดแคลชุดนักเรียนกว่า 3.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 52% ซึ่งเพจนักเรียนเลวย้ำว่า ชุดนักเรียนเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่
 
 
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/I52PQ_KcjpA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง