มาถึงเรื่องน่าปวดใจของชาวกรุง ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ กับปัญหาฝนตกรถติด และเหมือนฟ้าชอบแกล้งตกในช่วงหลังเลิกงาน อย่างเมื่อศุกร์ที่แล้ว เรียกว่าวิกฤตสุดๆ น้ำท่วมทั่ว กทม. รถติดหนักมาก ทำเอาบางคนติดแหง็กบนท้องถนน เที่ยงคืนยังไม่ถึงบ้านเลย เพราะต้องขับรถลุยน้ำกันตลอดทาง
ซึ่งการขับรถลุยน้ำ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนใช้รถต้องคิดหนัก ซึ่งวันนี้เราจะมาดูวิธีปลอดภัย หากต้องขับรถลุยน้ำท่วม ที่คนมีรถต้องรู้ไว้ เพื่อเตรียมการให้พร้อมหากต้องลุยน้ำในอนาคต
ก่อนอื่นเราต้องประเมินระดับน้ำกันก่อน ว่าระดับไหนที่ยังไปต่อได้ และระดับไหนที่ควรหยุด
ระดับน้ำ 5-20 เซนติเมตร ยังขับลุยได้สบายๆ ไม่มีปัญหาต่อเครื่องยนต์ในรถทุกระดับ แต่ก็ไม่ควรใช้ความเร็วมากนัก เพื่อความปลอดภัย
ระดับน้ำ 20-40 เซนติเมตร เริ่มส่งผลกระทบกับรถเก๋ง รถขนาดเล็ก อาจทำให้เกิดปัญหาท่อไอเสียจม แต่ก็ยังสามารถลุยน้ำผ่านไปได้ ถึงแม้น้ำจะท่วมมิดท่อไอเสียก็ยังขับต่อไปได้ เพราะท่อไอเสียจะขับไอเสียออกมา ไม่ได้มีการดูดน้ำกลับเข้าไป แต่โอกาสที่น้ำจะเข้าทางท่อไอเสียก็ยังมี เช่น ตอนเครื่องดับ จึงต้องระมัดระวัง
ระดับน้ำ 40-60 เซนติเมตร เป็นอันตรายกับรถเก๋งและขนาดกลางทุกประเภท แต่รถที่มีความสูงอย่าง รถกระบะ ยังสามารถขับฝ่าไปได้ แต่ก็ต้องขับด้วยความระวัง ไม่ให้คลื่นน้ำซัดเข้าหารถคันอื่น และป้องกันไม่ให้น้ำกระจายเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์
ระดับน้ำ 60-80 เซนติเมตร เป็นอันตรายกับรถยนต์ทุกชนิด ไม่ควรที่จะขับลุยน้ำเด็ดขาด เนื่องจากน้ำจะไหลเข้าห้องเครื่องยนต์ ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับ และก่อให้เกิดความเสียหาย
ระดับน้ำ 80 เซนติเมตร ขึ้นไป ท่วมถึงไฟหน้า และฝากระโปรงรถกระบะ ถือว่าอันตรายมาก ไม่สามารถขับสัญจรได้ ควรจอดทันที
ทีนี้มาดูหลักความปลอดภัยจากการที่เราต้องขับรถลุยน้ำ
- ขับช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าขับเร็วโดยเด็ดขาด เพราะน้ำจะทำให้รถเสียการทรงตัว เบรคจะลื่นขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ควบคุมรถได้ยากขึ้น จึงควรขับด้วยความเร็วต่ำที่สุดและสม่ำเสมอ ในรถเกียร์ธรรมดา ควรใช้ประมาณเกียร์ 2 ส่วนเกียร์ออโต้ควรใช้เกียร์ L และรักษารอบเครื่องยนต์ให้อยู่ 1,500 - 2,000 รอบ เพื่อให้เครื่องยนต์ขับไอเสียออกมาต่อเนื่อง
- ปิดแอร์รถทันที เมื่อเจอน้ำท่วม และเปิดกระจกระบายอากาศ เพื่อช่วยลดระดับน้ำที่กระจายเข้าห้องเครื่อง เพราะหากเราเปิดแอร์ พัดลมแอร์จะพัดน้ำเข้าไปในเครื่องทำให้มีโอกาสน็อกได้ รวมถึงขยะและสิ่งสกปรกในน้ำ อาจเข้าไปติดมอเตอร์พัดลม อาจทำให้ระบบระบายความร้อนในเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าเสียหายได้
- ห้ามเร่งเครื่องยนต์ ต้องประคองรถให้ผ่านจุดที่น้ำท่วมสูงด้วยความเร็วต่ำ อย่าเร่งเครื่องเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเกิดคลื่นที่กระจังด้านหน้า อุณหภูมิเครื่องยนต์จะสูงขึ้น ทำให้พัดลมระบายความร้อนทำงานหนัก น้ำอาจกระฉอกเข้ามาในเครื่องยนต์ได้
-เว้นระยะให้ห่างจากคันหน้ามากกว่าปกติ เพราะระบบเบรกทั้งหมดจมอยู่ในน้ำ ประสิทธิภาพในการทำงานจึงลดต่ำลง จึงควรอยู่ห่างรถคันหน้า เพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้น
-อย่าสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ดับขณะลุยน้ำ หากลองสตาร์ท 1-2 ครั้งแล้วไม่ติด อย่าพยายามฝืนสตาร์ทต่อ เพราะจะยิ่งทำให้เครื่องยนต์เสียหายไปกันใหญ่ ควรออกจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือ และเข็นรถหนีน้ำไปที่สูงหรือที่แห้ง เพื่อนำรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการทำการเช็คปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการดีที่สุด
- แต่หากรถไม่ดับ ยังขับประคองได้เรื่อยๆ หากขับรถพ้นช่วงน้ำท่วมแล้ว ควรย้ำเบรกบ่อยๆ หรือเหยียบเบรกถี่ๆ เพื่อไล่น้ำออกจากระบบ และผ้าเบรกจะได้แห้งไวขึ้น และเมื่อถึงบ้านแล้ว แนะนำว่าหลังลุยน้ำท่วมให้จอดสตาร์ททิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ไอเสียไล่น้ำที่อาจมีตกค้างอยู่บ้าง แล้วค่อยดับเครื่องยนต์ รวมทั้งสำรวจจุดๆต่างรอบรถ แผ่นป้ายทะเบียนหลุดหายหรือไม่ หรือมีน้ำซึมเข้ามาในรถบ้างไหม เพราะอาจกระทบกับบางจุดสำคัญ ทำให้รถเสียหายได้
รถเสียหายจากน้ำท่วม เคลมประกันได้ไหม?
ต้องเช็คก่อนว่า คุณทำประกันชั้นไหนเอาไว้ ถ้าชั้น 1 ก็คุ้มครองสูงสุด ทั้งเหตุรถชน รถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ แต่หากเป็นประกันชั้นอื่นก็ต้องดูเงื่อนไขของแต่ละบริษัทว่าครอบคลุมเหตุน้ำท่วมหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเคลมได้ตลอด เพราะต้องดูเงื่อนไขของน้ำท่วมด้วยว่าเข้าเกณฑ์นี้หรือไม่ ได้แก่
- หากเราจอดรถเอาไว้ในบ้าน แล้วในช่วงหน้าฝน เกิดน้ำท่วมย้ายรถหนีไม่ทัน ทำให้รถเสียหาย กรณีนี้ประกันรับเคลม แต่ถ้าเสียหายมาก บริษัทประกันประเมินว่าไม่คุ้มที่จะซ่อม ก็จะจ่ายเงิน 70-80% ของทุนประกัน
-ขับรถไปลุยน้ำท่วมขังบนถนน ซึ่งตัวแทนประกันอาจมองว่าเราจงใจขับรถไปบริเวณที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งเราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ได้ตั้งใจขับลุยเข้ามาในเส้นทางที่น้ำท่วม โดยเราต้องถ่ายรูปและคลิปบรรยากาศตอนน้ำท่วม ว่าฝนตกน้ำท่วมกะทันหัน เพื่อให้ประกันประเมินความเสียหายได้ในเบื้องต้น
แต่ทางที่ดีที่สุด เราต้องเลี่ยงขับรถเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเรานั่นเอง