สรุปไทม์ไลน์ก่อน 'หมุดคณะราษฎร' หายจากสนามหลวงในข้ามคืน เหลือไว้แต่รอยปูนโบก
logo TERO HOT SCOOP

สรุปไทม์ไลน์ก่อน 'หมุดคณะราษฎร' หายจากสนามหลวงในข้ามคืน เหลือไว้แต่รอยปูนโบก

TERO HOT SCOOP : จากรณีที่มีรายงานว่า หมุดคณะราษฎร 2563 ที่กลุ่มแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกันทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ที่ทำขึ้นมาใ หมุดคณะราษฎร,หมุดคณะราษฎรหายไปไหน

2,722 ครั้ง
|
21 ก.ย. 2563
จากรณีที่มีรายงานว่า หมุดคณะราษฎร 2563 ที่กลุ่มแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกันทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ที่ทำขึ้นมาใหม่ ลงบนพื้นปูนกลางท้องสนามหลวง แสดงออกถึงชัยชนะของประชาชนในการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน 2563
 
 
ล่าสุดเมื่อเวลา 05.00 น. (21 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบพบถูกรื้อถอน แล้วโบกปูนทับ โดยที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่โดยรอบบอกไม่ทราบ เพราะเพิ่งมาเข้าเวร
 
 
โดยก่อนหน้านี้นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำการชุมนุม ได้ระบุว่า การรื้อหมุดก็เหมือนการเหยียบหน้าประชาชน หากใครรื้อ ขอให้พบเจอแต่สิ่งอัปมงคล
 
 
ด้านนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์ว่าการปักหมุดดังกล่าวว่า ตามหลักการ การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) เนื่องจากมีการบุกรุกสนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ ยังมีการขุดพื้นที่เพื่อฝังหมุด โดยทางกรมศิลปากรจะเข้าแจ้งความในวันที่ 21 กันยายน
 
 
โดยเรื่องที่ 1 คือ การบุกรุก ทำให้เสียหาย เสื่อมค่า ซึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน มีการบุกรุกไปในพื้นที่สนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกรณีฝังหมุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ซึ่งมีการขุดพื้น แม้เป็นส่วนที่ทำขึ้นเมื่อครั้งงานพระเมรุ แต่เป็นการทำโดยถูกต้อง ได้รับอนุญาต เมื่อทำแล้ว จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ดังนั้น การฝังหมุด จึงมีความผิดตามกฎหมาย คือการทำลาย และทำให้โบราณสถานเสื่อม
 
 
พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกฎหมาย 2 หน่วย คือ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สนามหลวงและกระทรวงวัฒนธรรม ที่เป็นเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. โบราณสถานฯ 2504 ที่มีหน้าที่ รับผิดชอบโบราณสถาน หากเข้าข่ายความผิดชัดเจน ตัวแทนทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอน
 
 
โดยความผิดดังกล่าวจะมีโทษตามมาตรา 32 ข้อหาทำให้โบราณสถานเสียหาย เสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหาก 2 หน่วยงานพิจารณาว่าผิดในส่วนของตัวหมุดก็จะเป็นความรับผิดชอบในการดำเนินการเอาออกเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่พึงมี ในท้องสนามหลวง
 
 
ด้าน นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในฐานะตัวแทนจากกรมศิลปากร เข้าแจ้งความกับ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรณีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุม 19 กันยา  ขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังสอบปากคำพร้อมตรวจสอบพยานหลักฐาน 
 
 
เนื่องจากกรมศิลปากรได้จัดให้สนามหลวงเป็นสมบัติของชาติและส่วนรวมที่อยู่ในการควบคุมดูแลของ กทม.เพื่อให้ประชาชนใช้ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจ การขุดเจาะต่างๆ ต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร 
 
 
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนคร ให้ดำเนินการเอาผิดแกนนำผู้ชุมนุมที่บุกรุกพื้นที่สนามหลวง มีการตัดทำลายรั้วและพื้นสนามหลวงเพื่อปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการให้เกิดความเสียหาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง