ข่าวดีของชาวสวนยาง จากที่เคยราคายางตกต่ำกันมานาน มาวันนี้ปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 60 บาท/กิโลกรัม นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน ทำเอาชาวสวนยางยิ้มออกแม้จะอยู่ในวิกฤตโควิด-19
มีหลายต่อหลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าว ราคายางตกต่ำ ต่ำขนาดที่เราเคยได้ยินว่าราคายางเหลือ 4 โลร้อย 5 โลร้อย จนชาวสวนยางต้องออกมาประท้วง เอาน้ำยางมาเทประชดรัฐบาล แต่ก็มีบางช่วงที่ยางราคาดีมากๆ เราลองไปย้อนดูราคายางในสมัยรัฐบาลต่างๆ ดังนี้
ปี 2554 สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคายางแผ่นดิบทำสถิติสูงสุด 172 บาท เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 129 บาท
ปี 2555 สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ราคายางแผ่นดิบสูงสุด 108 บาท เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 91 บาท
ปี 2560 สมัยนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ราคายางแผ่นดิบสูงสุดอยู่ที่ 99 บาท เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 77 บาท
ซึ่งยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเมื่อปี 2019 ไทยครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก
ซึ่งประเทศที่เราส่งออกไปมากที่สุดคือ จีน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ในช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมของจีนตกต่ำ และผู้ผลิตหันไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ายางพารา อีกทั้งยังหันไปซื้อยางจากประเทศคู่แข่งที่ขายราคาถูกกว่าไทย
นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่เป็นคู่แข่ง เช่น กัมพูชา อินเดีย เวียดนาม ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ราคายางโลกตกต่ำ
จากข้อมูลทางสติติของสมาคมยางพาราไทย ได้ระบุไว้ว่า ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ของไทย เคยทำราคาไปได้สูงสุดถึง 148 บาท
หากย้อนไปก่อนเกิดวิกฤตโควิด ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563 ราคายางแผ่นดิบของไทยอยู่ที่ประมาณ 42 บาท แต่เมื่อเกิดโควิดก็ปรับตัวลงมาเหลือ 39 บาท แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น ราคาก็กลับมาพุ่งเป็นโลละ 60 บาท
โดยปัจจัยที่ทำให้ราคายางกลับมาพุ่ง หลักๆเลยมาจากจีน ที่มีการสั่งซื้อปริมาณมาก หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น บริษัทยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น มิชลิน ที่เคยหยุดผลิตช่วงโควิด ก็กลับมาเดินสายผลิตอีกครั้ง ทำให้ยางพาราเป็นที่ต้องการ
อีกทั้ง ผู้บริโภคในจีนหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ยางรถยนต์ต้องจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว
นอกจากนี้ยังมีความต้องการการใช้ถุงมือยางในแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ทำให้ยางพาราถูกใช้ในการผลิตมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าราคายางพุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ แต่เกษตรกรก็ต้องวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่ใช่ว่าจะเฮโลไปปลูกยางกันหมด เพราะราคายางเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง มิเช่นนั้นอาจต้องขาดทุนและต้องน้ำตาตกกับราคายางตกต่ำเหมือนที่ผ่านมา