เปิดมุมมองนักวิชาการ กับการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่”
logo TERO HOT SCOOP

เปิดมุมมองนักวิชาการ กับการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่”

1,255 ครั้ง
|
24 ส.ค. 2563

กระแสเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เกิดขึ้น กำลังเป็นปรากฎการณ์ตื่นตัวทางสังคมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาที่ถูกทับถมมายาวนานโดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่เป็นชนวนสำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้

 

(รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี  หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี    มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ว่าเป็นภาพสะท้อนถึงข้อเรียกร้องต่อคุณภาพการศึกษาไทยที่เป็นอยู่เพราะนักเรียนมองเห็นอนาคตของตัวเองท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งมีปัญหาความเท่าเทียมในระบบการศึกษาไทยที่ยังเป็น 2มาตรฐาน ระหว่างนักเรียนในโรงเรียนหัวเมืองใหญ่กับนักเรียนในต่างจังหวัด หรือแม้กระทั้งกติกาของโรงเรียนนานาชาติ กับโรงเรียนของรัฐ รวมทั้งปัญหาการใช้โครงสร้างทางอำนาจ จากครูที่มีต่อนักเรียน

 ดร.สิริพรรณ  กล่าวว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบางคนอาจมองว่าเป็นเพียงกระแส แต่กระแสเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของความอึดอัดคับข้องใจ และความล้มเหลวของระบบการศึกษาทั้งในแง่ของโครงสร้าง หลักสูตร และตัวบุคคล จนเกิดคำถามขึ้นมากมายกลายเป็นปรากฎการณ์ของยุคสมัยของการตั้งคำถาม เพราะคำถามที่เกิดขึ้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถหาคำตอบได้ง่ายขึ้นจากโลกออนไลน์ที่เปิดกว้างของข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายจึงไม่แปลกใจกระบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะมีระบบการศึกษาเป็นตัวบ่มเพาะปัญหาและรากฐานของความขัดแย้ง

 

                ดิฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะในประวัติศาสตร์สังคมไทยเราไม่เคยเห็นขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของตัวเขาเองแบบนี้ เราอาจจะเห็น 14ตุลา หรือ พฤษภา35 แต่ตรงนั้นเรียกร้องในแง่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้เป็นการเรียกร้องเรื่องที่อยู่รอบตัวเขา เรื่องที่มีผลต่อเขา มันสะท้อนอุดมการณ์เสรีนิยมในกลุ่มของนักศึกษา ที่เขารู้สึกว่าถ้าไม่ออกมาเรียกร้องผู้ใหญ่ไม่มีทางมาช่วยเขา

 

(ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)

 

ในขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา เฟลชม็อบ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา มองว่าปรากฎการณ์นี้เกิดจากการที่คนหนุ่มสาวเห็นชัดขึ้นถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญเพ่อสืบทอดอำนาจ ของ คสช. จนเกิดความไม่เสมอภาคทางด้านสิทธิ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้คน ทำให้เห็นชัดว่าต่อให้นักศึกษามีศักยภาพ มีความสามารถดีอย่างไร แต่ถ้าอยู่ในระบบโครงสร้างและเศรษฐกิจที่ไม่ทันต่อโลก จึงเกิดความต้องการเปลี่ยนแปลง และยุคนี้เป็นยุคดิจิทัลที่นักศึกษาสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายว่าประเทศเราทำไมจึงก้าวไม่ทันประเทศในหลายประเทศ จึงจำเป็นต้องเรียนร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

ผมคิดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด นอกจากคิดในมุมของเราต้องพยายามที่จะเข้าใจคนอื่นด้วย วิธีคิดของรัฐบาลที่ไม่พยายามเข้าใจนักศึกษาจะเป็นปัญหา เพราะยังมีความเชื่อว่านักศึกษาถูกล้างสมองหรือมีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง ถือเป็นการดูเบาคนรุ่นหนุ่มสาวทั้งที่เขาโตมาในโลกที่สามารถหาความรู้นอกห้องเรียนได้อย่างกว้างขวาง รู้ทันใจโลกได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ คนรุ่นที่ลงตัวแล้วและมีอำนาจอาจจะไม่คุ้นชินกับการถูกตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่เคยถูกคำถาม ดังนั้นต้องมาแลกเปลี่ยนรับฟังกันว่าต่างฝ่ายมีทัศนะที่ต่างกันอย่างไร ไม่ใช่มายืนอยู่บนหลักว่าคนรุ่นเก่าถูกอยู่แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่เข้าใจผิด

(ภาพ- ดร.สติธร ธนานิธิโชติ สถาบันพระปกเกล้า)

ดร. สติธร ธนานิธิโชติ  มองว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา สะท้อนความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่สั่งสมมานาน ว่าระบบการเมืองไทย และสังคมไทยน่าจะดีกว่านี้ ซึ่งพวกเขาเคยมีความหวังกับรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง จึงแสดงออกด้วยการไปเลือกตั้งสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค แต่สุดท้ายก็ผิดหวังกับระบบการเมืองไทย เห็นได้ชัดจากการแสดงออกหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหว แม้จะมีการระบาดโควิด-19 แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่เคยหยุดโดยเฉพาะในโซเชียลยังคงร้อนแรง ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่จะต้องมารับฟังอย่างจริงจัง

 

ดังนั้นทางออกของประเทศที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ นายกรัฐมนตรีในฐานะคู่ขัดแย้งโดยตรงจะต้องเป็นเจ้าภาพในการพูดคุยกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา ซึ่งต้องเป็นรูปแบบของการพูดคุยและถกเถียงกัน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของสถานการณ์ อย่างน้อยที่สุดฝ่ายรัฐบาลต้องตอบรับข้อเรียกร้องคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

(ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

แก้รัฐธรรมนูญ คือทางออก?

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  ชี้ว่าหากสังเกตให้ดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของเด็กในมหาวิทยาลัย หรือในโรงเรียน ต่างมีจุดร่วมเดียวกันคือ การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่เข้าไปกำหนดโครงสร้างของรัฐและสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาที่ออกแบบโดยยึดรูปแบบของรัฐธรรมนูญปี 2521 และรัฐธรรมนูญ ปี 2534 เป็นการกำหนดโคงสร้างที่ย้อนยุคกลับไปในหลายสิบปี ส่วนกระแสทางสังคมที่มีพลวัตรเปลี่ยนแปลงสูงมาก ถือเป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ฝืนธรรมชาติความเป็นจริง จึงปฏิเสธไม่ได้ที่กลุ่มคนต่างๆจะออกมาเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐธรรมนูญ

 

การเกิดขึ้นของปรากฎการณ์นี้ค่อนข้างรวดเร็ว เป็นสัญญาณชัดเจนว่ากลุ่มน้องๆนิสิตนักศึกษา และนักเรียนแสดงความไม่พอใจกับโครงสร้างที่ปราศจากความชอบธรรมในสายตาของนิสิตนักศึกษา เพราะรัฐธรรมนูญสะท้อนถึงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าสรุปแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของเขาหรือไม่ 

 

ดร.พรสันต์ ยังมองว่าขอเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นไปไกลมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดตอนการสืบทอดอำนาจของ คสช.เท่านั้น  แต่ยังมีนัยยะที่ต้องการเซ็ตระบบ สร้างความน่าเชื่อถือในตรวจสอบถ่วงดุลและต้องการให้รัฐบาลมาจากตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ เพราะสิ่งที่นักเรียนนักศึกษาสะท้อนออกมาเกิดจากการไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของในการปกครองประเทศ และไม่ได้เป็นเจ้าของรัฐบาลทั้งที่เข้าไปเป็นผู้ใช้อำนาจแทนตัวพวกเขาเอง

 

ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี  มองประเด็นว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษาแต่ประชาชนจำนวนมากก็เห็นถึงจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่นำมาสู่รัฐบาลที่เกิดจากกติกาไม่เป็นธรรม ส่วนตัวยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี หรือให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. หรือให้มีระบบเลือกตั้งที่ไม่เอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง นั้นสามารถทำได้โดยกลไกของรัฐสภาที่ไม่ถึงขั้นต้องทำประชามติเลย ถ้าวุฒิสภาร่วมโหวตให้ความเห็นชอบด้วย  ก็จะสามารถลดอุณหภูมิทางการเมืองลงได้  ส่วนการยุบสภาโดยมารยาทแล้วเมื่อมีการแก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี การยุบสภาก็เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

 

ด้านผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา สิ่งสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเปิดพื้นที่ให้คนแต่ละกลุ่มในสังคมได้มีส่วนในการออกแบบรัฐธรรมนูญ  เพราะรัฐธรรมนูญเป็นข้อตกลงร่วมในสังคมหากข้อตกลงฉบับนี้ไม่ได้มาจากการเห็นพ้องต้องกันก็ยากที่จะได้การยอมรับ

 

คลิปข่าว >> นักวิชาการชี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อย่าดูถูก

 

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

ทีมข่าวการเมือง