พลเมืองดี เก็บเงินหมื่นได้ เอาไปแจ้งตร.ตามหาเจ้าของ ครบ 1 ปี เงินล่องหน สรุปใครต้องรับผิดชอบ ใครต้องได้เงิน?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

พลเมืองดี เก็บเงินหมื่นได้ เอาไปแจ้งตร.ตามหาเจ้าของ ครบ 1 ปี เงินล่องหน สรุปใครต้องรับผิดชอบ ใครต้องได้เงิน?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : มาต่อกันที่ประเด็นอื้อฉาวใน จ.ภูเก็ต เมื่อมีพลเมืองดีเก็บเงินได้จำนวน 10,740 บาท และนำส่งตำรวจที่สภ.ป่าตอง เมื่อเว รอดไปด้วยกันเศรษฐกิจชาวบ้าน,ทิน โชคกมลกิจ,รอดไปด้วยกัน,ข่าวเศรษฐกิจ,พลเมืองดี,เก็บเงินส่งตำรวจ

2,110 ครั้ง
|
20 ส.ค. 2563
มาต่อกันที่ประเด็นอื้อฉาวใน จ.ภูเก็ต เมื่อมีพลเมืองดีเก็บเงินได้จำนวน 10,740 บาท และนำส่งตำรวจที่สภ.ป่าตอง เมื่อเวลาล่วงเลยไปจนครบ 1 ปีเต็ม ชายที่เก็บเงินได้รายดังกล่าวเดินทางไปขอรับเงินคืนเนื่องจากไม่มีเจ้าของมาแสดงตัว เนื่องจากกฎหมายระบุว่าหากครบปีเงินจะตกเป็นของคนที่เก็บได้ แต่กลายเป็นเรื่องโอละพ่อ เมื่อตำรวจกลับบอกว่า “เงินนั้นฝากไว้กับร้อยเวร แล้วร้อยเวรคนดังกล่าวได้ออกจากราชการไปแล้ว” 
 
ทีนี้คุณสุรชัย พลเมืองดี ก็ได้พยายามติดตามร้อยเวรคนดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล เขาจึงได้โพสต์เฟซบุ๊กจนเป็นข่าวคึกโครมขึ้นมา ต่อมา พ.ต.อ.อกนิษฐ์ ด่านพิทักษ์ศาสตร์ ผกก.สภ.ป่าตอง ออกมายืนยันว่า เงินยังถูกเก็บเอาไว้ที่โรงพัก ไม่ได้หายไปไหนแต่อย่างใด
 
ทีมงานของเราจึงได้โทรศัพท์สอบถามคุณสุรชัย ผู้เก็บเงินจำนวน 10,740 บาท ได้นั้น โดยคุณสุรชัยเล่าวว่า วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นัดเข้าไปเคลียร์ โดย ตำรวจได้ส่งมอบเงินจำนวน 10,740 บาท และมอบเงิน 2,000 บาท เป็นสินน้ำใจให้แก่คุณสุรชัย พร้อมประกาศนียบัตร คนดีศรีป่าตอง ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใด 
 
ทนายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์ ได้ออกมาให้ข้อมูลขั้นตอนปฏิบัติ หากว่า วันหนึ่งคุณเก็บเงินได้ หรือคุณทำของหาย คุณจะต้องทำอย่างไร โดยทนายเจมส์เผยว่า  “ในทางกฎหมาย กรณีเก็บทรัพย์สินได้ แล้วเจ้าของไม่ได้มารับภายใน 1 ปี ทรัพย์นั้นจะตกเป็นของผู้ที่เก็บได้ แต่ถ้าเจ้าของไม่ได้สละการครอบครอง(มีการแจ้งความแสดงเจตจำนงค์ค้นหาทรัพย์) แล้วผู้ที่เก็บได้นำทรัพย์นั้นไป ก็จะกลายเป็นการลักทรัพย์ ซึ่งอันดับแรกหากเราเก็บของได้จะต้องแจ้งความเพื่อแสดงเจตนาตามหาเจ้าของ โดยของที่เราเก็บมาได้นั้น จะฝากไว้ที่ตำรวจ หรือจะเก็บไว้เองเพื่อประกาศตามหาก็ได้”
 
ทนายเจมส์แนะนำว่า หากเราเก็บเงินได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1323 ระบุไว้ชัดเจนว่า 
 
1. ส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ (กรณีทราบว่าเจ้าของเป็นใคร)
2. กรณีไม่ทราบว่าเจ้าของเป็นใครต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 3 วันนับจากวันที่ได้ทรัพย์นั้น
3. หากผ่านไป 1 ปีแล้วเจ้าของไม่ได้มารับ กรรมสิทธิ์การครอบครองจะตกเป็นของผู้พบทันที
ทีนี้มาดูว่า ถ้าฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทรัพย์สินจะต้องเอาไปไว้ที่ไหนอย่างไร
 
ซึ่งโดยปกติเวลาพนักงานสอบสวนรับทรัพย์สินมา ของเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ที่ห้องเก็บของกลาง ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นได้นำทรัพย์สินนั้นไปเก็บไว้ห้องของกลาง หรือว่าตำรวจคนนั้นเก็บไว้เอง ซึ่งหากนำไปใช้ส่วนตัวก็จะเป็นความผิดกฎหมายอาญามาตรา 147 ฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุก 5 – 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 40,000 บาท
 
และถ้าเราเก็บเงินได้ แล้วทำตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด แล้วสามารถส่งคืนให้เจ้าของได้ เรามีสิทธิ์เรียกร้องเงินเล็กๆน้อยๆ เป็นสินน้ำใจได้หรือไม่? 
 
ทนายเจมส์ตอบว่า ไม่ได้ ไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าเราสามารถเรียกค่าสินน้ำใจที่เราเก็บของคืนได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็จะขึ้นอยู่กับเจ้าของทรัพย์ว่าจะให้หรือไม่ให้ก็ได้
 
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Me1aNaZMaDE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง