จากกรณีห้างสรรพสินค้าที่อังกฤษสั่งเก็บผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมะพร้าวจากประเทศไทย โดยมองว่าใช้แรงงานลิง ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวบ้าน
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์สาธิตการฝึกลิงเพื่อการเกษตรของนายนิรันดร์ วงศ์วานิช อายุ 52 ปี ชาวตำบลคลองน้อย เมืองสุราษฎร์ธานี และชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่
ยืนยันการใช้ลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของเกษตรกรมากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีการเพาะพันธุ์ลิง การอนุบาลและการเลี้ยงดูที่เอาใจใส่เหมือนบุคคลในครอบ ครัวให้อาหารวันละ 3 มื้อ เสริมด้วยขนม นมและผลไม้ ไม่ได้ไปจับลิงจากในป่าหรือทารุณกรรมสัตว์ตามที่มีการกล่าวหา จึงได้มาให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและศูนย์ฝึกลิงได้ประกอบอาชีพ
ซึ่งอาจเป็นความไม่เข้าใจวิถีชีวิตเกษตรกร ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ฑูตพาณิชย์ที่อังกฤษไปชี้แจง และจะมีการเชิญฑูตประเทศต่างๆ มาดูการทำอาชีพสวนมะพร้าวและการเลี้ยงดูลิงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
ด้านนายนิรันดร์ กล่าวว่า ได้เปิดฝึกลิงมากว่า 30 ปีแล้ว สืบทอดตั้งแต่รุ่นพ่อ ถึงปัจจุบันมีลิง 38 ตัว ซึ่งการเลี้ยงลิงจะดูแลอย่างดีให้อาหารครบ 3 มื้อ พร้อมของว่างบ้างบางเวลา ชาวสวนจะไม่ได้ผลผลิตจากต้นมะพร้าวเลยหากไม่มีลิงเพราะคนไม่สามารถขึ้นต้นมะพร้าวได้หลายต้นต่อวัน และทำให้การเก็บมะพร้าวตรงเวลาในแต่ละรอบ โดยส่วนตัวมองว่าไม่มีอะไรมาทดแทนลิงขึ้นมะพร้าวได้ และไม่มีการทำให้ทรมานสัตว์ ตรงกันข้ามกลับให้ความรักความเอ็นดูเหมือนลูกมากกว่า ซึ่งลิงที่นำมาฝึกขึ้นมะพร้าวก็เป็นลิงบ้านคือลิงที่เกิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีอยู่เดิมไม่ใช่ลิงป่า
ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พูดถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ระบบอุตสาหกรรมกับภูมิปัญญา ในส่วนของอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงมะพร้าวพันธุ์เตี้ย สูงเพียง 10-12 เมตร สามารถใช้คน หรือเครื่องมือทางอุตสาหกรรมในการเก็บมะพร้าวได้ ทำให้ประเทศไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นส่วนที่น้อยมาก ส่วนเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน หากมีการใช้ลิงมาเก็บมะพร้อมก็ไม่สามารถห้ามได้ เพราะลิงถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กันกับชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต่างจากหมาหรือแมว
อย่างไรก็ตาม มะพร้าวของไทยที่ส่งออกไปประเทศอังกฤษมีเพียง 8% เพราะส่วนใหญ่ส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งส่วนนี้ทางกระทรวงฯจะชี้แจง พร้อมเชิญสื่อต่างชาติลงไปดูในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ
+ อ่านเพิ่มเติม