เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแจกหน้ากากผ้าให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ที่สถานีสุขุมวิทว่า
ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องข้องกับการเดินทางในทุกโหมดการเดินทางรับทราบแล้วว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับผลการศึกษาวิจัยของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย พบว่า หากผู้โดยสารอยู่รวมกันไม่เกิน 50 นาที และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด โอกาสที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นศูนย์
ทางรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) จึงได้พิจารณาคลายล็อกเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ จากเดิมที่ต้องนั่งที่นั่งเว้นที่นั่ง ก็ให้สามารถนั่งติดกันได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนในครอบครัวเดียวกันที่เดินทางมาด้วยกันตลอด และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทางด้วยเท่านั้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องข้องกับการเดินทางในทุกโหมดการเดินทาง ไปจัดทำแผนและวิธีปฏิบัติในการไม่ต้องเว้นที่นั่งในระบบขนส่งสาธารณะตามมาตรการดังกล่าวแล้ว เช่น ติดสติ๊กเกอร์แสดงสัญลักษณ์ว่ามาด้วยกัน เป็นต้น
ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นสัปดาห์หน้า และจะเริ่มคลายล็อกการนั่งเว้นที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 เป็นต้นไป โดยก่อนจะเริ่มปฏิบัติต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบโดยทั่วกันถึงวิธีปฏิบัติ เพื่อจะได้เข้าใจ และไม่ให้เกิดปัญหา รวมทั้งมีคำถามว่าทำไมคนนี้นั่งติดกันได้ และทำไมคนนี้นั่งติดกันไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอื่นๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไป การ์ดต้องไม่ตก
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในระยะแรกนี้การอนุญาตให้นั่งติดกันได้ โดยไม่ต้องเว้นที่นั่งนั้น จะดำเนินการในระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 50 นาทีก่อน เช่น รถไฟฟ้า และรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น แต่ในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะที่เดินทางข้ามจังหวัด และใช้เวลาในการเดินทางเกิน 50 นาที เช่น รถไฟ รถบขส. และรถทัวร์ ยังต้องดำเนินการมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยการนั่งเว้นที่นั่งตามเดิม และที่สำคัญต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง รัฐบาล และศบค. ยังไม่ต้องการให้ลดมาตรฐานลง
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการเสนอกรอบวงเงินตามมาตรการที่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น ได้เสนอกรอบวงเงินของกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ประมาณกว่า 7 พันล้านให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะทางบก อาทิ รถโดยสาร รถ บขส. และแท็กซี่ ในเรื่องต้นทุนช่วงที่มีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม
ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่ดูแลทางด้าน น้ำ ราง และอากาศ ได้เร่งให้ดำเนินการจัดส่งมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ได้เน้นย้ำว่าวงเงินที่เสนอมานั้น ขอให้เป็นเงินที่จะช่วยเยียวยาเพื่อให้กิจการไปต่อได้ ไม่ใช่เอาเงินมาเป็นกำไร ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนที่แท้จริง และดูปริมาณผู้โดยสาร ไม่ใช่คิดในฐานผู้โดยสารเต็ม 100%