โศกนาฎกรรมที่หลายคนเรียกมันว่า 'ทุ่งสังหารกลางกรุง' เมื่อครั้งสลายการชุมนุมของ นปช. ปี 53 ที่สร้างบาดแผลความเจ็บปวดให้กับประเทศชาติ ฝันร้ายที่คอยหลอกหลอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บัดนี้ได้ถูกนำกลับมาพูดถึงในสังคมไทยอีกครั้ง
- 11 พ.ค. 63 ข้อความ #ตามหาความจริง ถูกฉายเป็นลำแสง ด้วยเครื่องโปรเจคเตอร์โดยกลุ่มคนปริศนา ปรากฎบนสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม ซอยรางน้ำ
- เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานที่ดังกล่าว ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. (เสื้อแดง) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 53 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 10 ปี ‘โศกนาฏกรรมกลางกรุง’ ที่สังเวยชีวิตคนไทยเกือบ 100 ชีวิต และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย
- ภาพดังกล่าวถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วบนโลกทวิตเตอร์จนติดเทรนด์อันดับ 1 ด้วยข้อความกว่า 1 ล้านข้อความในชั่วข้ามคืน
- โลกออนไลน์ กลับมาพูดถึงเหตุการณ์เมื่อ 12 มี.ค. 53 อีกครั้ง ซึ่งในวันนั้นเกิดการชุมนุมใหญ่ของประชาชนในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำผังนี้ไปตั้งคดีเอาผิดกับผู้มีชื่อในผัง ก่อนที่โฆษก ศอฉ. จะกลับคำ โดยอ้างว่าไม่ใช่ความจริง แต่สื่อตีความกันไปเอง
- ความรุนแรงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ปะทุขึ้นเมื่อ ‘ชายชุดดำ’ กองกำลังปริศนาไม่ทราบฝ่ายพร้อมอาวุธสงครามปะปนกับผู้ชุมนุมกราดยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่สี่แยกคอกวัว บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย แบ่งเป็นพลเรือน 19 รายและทหาร 5 นาย
ภาพและคำบรรยายนี้ปรากฏในรายงาน คอป. หน้า 102 ซึ่งเขียนถึงความรุนแรงเมื่อ 10 เม.ย. 2553
- ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้เหตุการณ์ดังกล่าว ออกใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงเพื่อป้องกันตัวและระงับเหตุ ทันใดนั้นป้าย ‘เขตกระสุนจริง’ ประกาศิตปลิดชีวิต ถูกปักประกาศอย่างทันควัน
- ‘เขตอภัยทาน’ สู่ ‘ลานสังหารหมู่’ นี่เป็น 1 ในเหตุการณ์ที่ถูกกลับมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเหตุการณ์จากความรุนแรงในครั้งนั้น ควรจะยุติลงเมื่อแกนนำ นปช. ได้ยอมจำนนและเข้ามอบตัว เหลือเพียงผู้ชุมนุมที่เคลื่อนตัวเข้าเขตวัดปทุมวนารามราชวรวิหารเพื่อหลบภัย ซึ่ง ศอฉ. ประกาศให้เป็น ‘เขตอภัยทาน’ ก่อนที่เสียงปืนจะดังขึ้นอีกครั้ง
- มีผู้เสียชีวิตกลาง ‘เขตอภัยทาน’ ถึง 6 ศพ หนึ่งในนั้นมี ‘อาสาพยาบาล’ ถูกยิงดับคาเต็นท์พยาบาล ซึ่งเป็นจุดที่ควรจะปลอดภัยมากที่สุด โดยผลการไต่สวนของศาลระบุว่า วิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และบริเวณ ถ.พระรามที่ 1
- ปิดฉากส่งท้ายด้วยเหตุวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ และสถานที่ต่างๆ รวม 39 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านั้น แกนนำ นปช. บางคนเคยกล่าวถึงเรื่องการเผาสถานที่ จนถูกมองว่าอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นที่มาแห่งวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง”
- สรุปความเสียหาย จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 ราย แบ่งเป็นพลเรือน 88 ราย ทหาร 6 นาย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกยิงด้วยกระสุนเข้าที่ศีรษะ อก ท้อง ล้วนแต่เป็นจุดตายทั้งสิ้น
- ผลชันสูตรพลิกศพ และผลการไต่สวนของศาลพบว่า อย่างน้อย 18 รายที่เสียชีวิตเนื่องจากกระสุนของทหาร
- ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ แต่ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบ หลังศาลพิพากษายกฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. โดย ป.ป.ช.ชี้ว่าการสลายชุมนุม เป็นไปตามหลักสากล การชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ
- แม้แต่ 6 ศพ ที่วัดปทุมฯ เขตอภัยทาน กับ 8 ทหารสไนเปอร์บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส อัยการก็สั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพยานบุคคลให้การว่าทหารทั้งหมดยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ
- ล่าสุด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมเพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีกับกลุ่มฉายลำแสง #ตามหาความจริง นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า อยากฝากว่าจะทำอะไรก็ให้ระวัง อย่าให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งของคนในชาติ
"ความจริง" อาจทำให้บางคนไม่สบายใจ คุณเลยต้องไล่จับความจริงกันวุ่นวายไปหมด แต่ "ความจริง" ก็ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากคำลวงของคุณ เราไม่ตกเป็นทาสของคุณอีกแล้ว
— คณะก้าวหน้า - Progressive Movement (@ProgressiveThai) May 11, 2020
ร่วม #ตามหาความจริง ไปพร้อมกันที่เพจคณะก้าวหน้า 12-20 พ.ค.#ความจริงต้องปรากฎ pic.twitter.com/Ee9cwXiBCU
- ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์คลิป Timelapse #ตามหาความจริง พร้อมข้อความระบุว่า ฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า ไม่ต้องตามหาให้เหนื่อยแรงอีกต่อไปว่าใครคือคนที่ฉายแสงสว่างส่องหาความจริง ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือพวกเรา “ประชาชน”.