ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เงินเยียวยา 5,000 บาท ความหวังต่อลมหายใจของใครหลายคน ซึ่งหลายคนได้ และแน่นอนว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้…
- "ไอเรามันจนจริงๆ เงินจะส่ง ธ.ก.ส. ก็ไม่มี ของก็ขายไม่ได้ จะให้เราทำอย่างไร ท่านประยุทธ์โปรดทราบ" เสียงสะอื้นทั้งน้ำตาของ นางทองสา ดาหา วัย 64 ปี ชาวกำแพงเพชร ที่ยืนยันว่า เธอยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล
- การออกมาแสดงท่าทีเช่นนี้ของคุณป้าทองสา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงสิทธิ์พึงได้ของป้าทองสา
- ร้อนถึงผู้ว่าฯ กำแพงเพชร ต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่บ้านของป้าทองสา พบว่าเป็นบ้านปูนชั้นเดียวขนาดใหญ่ ติดเครื่องปรับอากาศ ถูกปิดตายไร้วี่แววคนอาศัย
- แต่ป้าทองสาเช่าบ้านเป็นห้องแถว 2 ชั้น อยู่ ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ใกล้สะพานพระราม 8 กทม. โดยอาศัยอยู่ทั้งหมด 10 ชีวิต
- คลังจังหวัดกำแพงเพชรชี้แจงว่า ป้าทองสา ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจริง และหลานดันไปกดยกเลิกเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ทำให้ป้าทองสาไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา
- เมื่อข่าวถูกเผยแพร่ออกไป เกิดเป็นกระแสตีกลับอย่างดุเดือดทำนองว่า ป้าเล่นใหญ่รัชดาลัย, อยากได้เงินมากจนหน้ามืด หรือแม้แต่คนมีสีจ้างมาเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ฯลฯ
- จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า ป้าทองสา มีลูกทั้งหมด 4 คน อายุ 45(มีงานทำ), 38(ตกงาน), 35 ตามลำดับ(มีงานทำ) และลูกสาวคนเล็กอายุ 20 ปีกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี
- ป้าทองสา มีหลานแท้ๆ ทั้งหมด 4 คน ซึ่งคนเล็กสุดอายุ 6 เดือน โดย 1 ในนี้ ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกส์พีดี ซึ่งต้องมีการถ่ายเลือดอยู่บ่อยครั้ง
- ส่วนรายได้หลักของป้าทองสามาจากการขายลูกชิ้นกับสามี เฉลี่ยเดือนละ 10,500 บาท(วันละประมาณ 350 บาท) และมีเงินที่ลูกส่งให้รวมกันอีกเดือนละ 3,000 บาท รวมทั้งหมด 13,500 บาท
- ขณะที่ รายจ่ายของป้าทองสา ได้แก่ ค่าอาหารทั้งครอบครัวเฉลี่ยนเดือนละ 9,000 บาท(วันละ 300 บาท) ค่าเช่าบ้าน 5,500 บาท และค่าน้ำ-ไฟ เฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท รวมทั้งสิ้น 16,500 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้
- ป้าทองสาเปิดใจกับทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ถึงสาเหตุที่ไปประท้วงว่า “เดือดร้อนมาก ข้าวสาร นมหลานก็จะหมด เงินจ่ายค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟก็ไม่มี หมู 2 ไม้ให้หลานกิน 3 เวลา มันสิ้นหวังจนป้าเคยคิดว่าจะอุ้มหลานไปกระโดดสะพานพระราม 8 ตาย”
- ป้าทองสายังกล่าวทั้งน้ำตาอีกว่า “เสียใจที่คนต่อว่ามีบ้านหลังใหญ่โต แต่อยากได้เงิน เราไปทวงสิทธิ์ของเรา บ้านก็เป็นบ้านของลูกสาว ซึ่งแฟนเขาสร้างให้ ส่วนมากเราอยู่ กทม.มา 20 ปีแล้ว"
- "น้องชายก็โทรมาต่อว่าทำให้อับอาย คนก็ด่าว่าเราเป็นคนโกหกตอแหลหลอกลวงอยากได้เงินเขา ป้าขอสาบานตรงนี้เลยว่าบริสุทธิ์ใจ ไม่เคยคิดอย่างนั้น”
- สำหรับเรื่องกดยกเลิกลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันและหนี้ ธ.ก.ส. ป้าทองสาชี้แจงว่า “หลานชายเป็นคนกดยกเลิก ส่วนสามีเมื่อก่อนทำนาและเป็นหนี้ ธ.ก.ส. อยู่ 90,000 บาท ซึ่งไม่ใช่หนี้ของป้า แต่เราเป็นสามี-ภรรยาก็เหมือนเป็นหนี้ของเรา ”
- เมื่อถามว่าอยากจะวิงวอนถึงรัฐบาล หรือคนใจบุญเพื่อความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ป้าทองสากล่าวว่า “กราบวิงวอน ท่านผู้ใจบุญทั้งหลายหากอยากจะช่วยเหลือดิฉันก็เรียนเชิญเลยนะคะ น่าสงสาร เดือดร้อนค่ะ”
-เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่ได้รับเงินเยียวยา ป้าทองสาจะทำอย่างไร คุณป้า ตอบว่า “ถ้าไม่กลับบ้านนอก ก็จะฆ่าตัวตาย ให้มันจบๆ ไปสะ”
- อย่างไรก็ตามลูกชายของป้าทองสาให้สัมภาษณ์ว่า “ตนและคนอื่นได้ห้ามปรามแม่ไม่ให้ไปร้องเรียนแล้ว แต่แม่ยืนยันว่าต้องได้รับสิทธิ์ให้ได้ และช่วงนี้ตนว่างงานขาดรายได้ ซึ่งพยายามชี้แจงให้แม่เข้าใจ แต่แม่ก็ยังไม่ค่อยพอใจ จึงอยากวอนให้สังคมเข้าใจว่า แม่แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่พึงได้เท่านั้น.
ป้าทองสา
ทองสาดาหา
ป้าปล่อยโฮ
ประท้วงคลัง
ร้องเรียน
เงินเยียวยา
เงินเยียวยา5000
โควิด19
เราไม่ทิ้งกัน