ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อมรณะอย่างโควิด-19 แสง สี ความวุ่นวายของโลกที่ไม่เคยหลับใหลกลับเงียบสงบลงอย่างน่าประหลาด แต่คงไม่ใช่สำหรับสังคมไซเบอร์ เมื่อประชาชนแห่ติด #เราไม่ใช่เกษตรกร จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์
- มหากาพย์ #เราไม่ใช่เกษตรกร เริ่มขึ้นเมื่อ รัฐบาลออกมาตรการมอบเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาทต่อคน ในชื่อมาตรการสุดฟีลกู๊ดอย่าง ‘เราไม่ทิ้งกัน’
- ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง บริษัทห้างร้านต้องหยุดกิจการ ประชาชนตกงาน รายได้หดหาย เผชิญสารพัดปัญหา แต่รายจ่ายกลับไม่เคยหยุดพัก แทบปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเงิน 5,000 บาท คือ หนทางต่อลมหายใจสำหรับประชาชนฐานรากตาดำๆ ที่หาเช้ากินค่ำ
- นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยยอดผู้ลงทะเบียนล่าสุดกว่า 27 ล้านคน โดยจ่ายเงินแล้ว 2.4 ล้านคน มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะเร่งตรวจสอบและจ่ายเงินให้เร็วที่สุด
- ความหวังที่หลายคนตั้งตารอกลับพังทลายลงเพียงแค่ข้อความไม่กี่บรรทัดที่แจ้งว่า “ท่านไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากท่านเป็นเกษตรกร” หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือนักศึกษา ทั้งที่หลายคนไม่ได้ประกอบอาชีพเหล่านั้น ทำเอาโลกออนไลน์หัวร้อนทันที
- ชาวเน็ตที่ได้รับการตอบกลับดังกล่าว ได้โพสต์ระบายความในใจบนโลกออนไลน์อย่างเผ็ดร้อนในทำนองตำหนิความผิดพลาดของ AI ระบบคัดกรอง รวมถึงกระบวนการทำงานที่ผิดพลาดของกระทรวงการคลัง
- “ของตาผมมันบอกว่าเป็นเกษตรกร พอไปเช็กในเกษตรกร มันบอกว่าไม่ได้เป็นเกษตรกร อี…” ข้อความหนึ่งบนโลกออนไลน์ที่สะท้อนถึงปัญหาขณะนี้
- “ตอนเก็บภาษี… เก็บเท่าดาราดัง วันนี้สุดปัง..มอบบทเกษตรกร(ให้กู) #งงมากแม่ #รับบทสาวไร่อ้อย 1 แมทช์” อีกหนึ่งข้อความจากโลกออนไลน์
- เมื่อวานนี้ (14 เม.ย. 63) ประชาชนจากหลากหลายอาชีพนับร้อยที่ไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา ลุกฮือบุกกระทรวงการคลัง เรียกร้องขอพบรมว.กระทรวงการคลัง เพื่อขอเหตุผล และคำชี้แจงที่ชัดเจน
- หลายคนถึงขนาดขู่ว่าจะเผาตัวเอง, จะแก้ผ้าประชด, จะยอมติดคุกดีกว่าอดตาย และจะยอมป่วยเป็นโควิด เพื่อที่จะได้เงินประกันมาใช้จ่ายประทังชีวิต บางคนเปิดบัญชีพร้อมเพย์ให้สื่อดู ว่า มีเงินเหลือเพียง 12 บาทเท่านั้น
- "ทำไมถึงไม่ช่วยล่ะ แน่จริงเปิดตลาดให้ขายสิ จะไม่มาเอาเงิน 5,000 หลานก็ต้องกินนม แค่บัตรคนจนเดือนละ 300 เด็กเดือนละ 600 ประทังชีวิตได้ไหม" คำปรามาสทั้งน้ำตาของคุณป้าท่านหนึ่งที่อยากจะส่งถึงผู้รับผิดชอบ
- คุณป้าท่านหนึ่งประกอบอาชีพวินจักรยานยนต์รับจ้างกว่า 35 ปี มีใบขับขี่สาธารณะแต่ได้รับการตอบกลับว่าเป็นเจ้าของธุรกิจกล่าวว่า "รัฐบาลนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ประชาชนสามารถเอาผิดได้ไหม"
- ล่าสุด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการโหนกระแสว่า “หากท่านใดประสบปัญหากับการตรวจคัดกรองที่ผิดพลาด สามารถเข้าไปทักท้วงและแจ้งรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com โดยรอบต่อไปจะนำทีมบุคคลเข้ามาทำการตรวจสอบแทนระบบคอมพิวเตอร์ โดยจะมีให้ยื่นอุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป”
- ทั้งนี้ นายลวรณ ยืนยันว่า ระบบคัดกรอง AI ของเว็บไซต์มีความแม่นยำ พร้อมชี้แจงกรณีเกษตรกรว่า เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวอาจนำชื่อภายในสมาชิกครอบครัวไปลงทะเบียนเกษตรกรโดยที่ท่านทราบหรือไม่ทราบ จึงทำให้ระบบปรากฏผลตรวจสอบว่าท่านเป็นเกษตรกร.
- อัพเดทประเด็นสำคัญ : ล่าสุดวันนี้ 15 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมยืนยันว่า พยายามจะดูแลท่านอย่างเต็มที่ตามขีดความสามารถที่รัฐมีอยู่ ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย กราบเรียนย้ำอีกครั้ง เรามีเม็ดเงินที่จะดูแลให้ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้นก่อน”