สถานการณ์โควิด-19 ทำเอาร้านรวงต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวตามคำสั่งของภาครัฐ และเมื่อนั่งร้านไม่ได้ ไม่อยากฝ่าไวรัส ไม่อยากแหวกฝูงคน ไม่อยากจับแตะข้าวของสาธารณะ “การใช้บริการพนักงานส่งอาหาร” จึงเป็นคำตอบ…
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ ไล่เรียงข้อมูลของ 3 ยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจส่งอาหาร รายได้เติบโตแค่ไหน, พนักงานส่งอาหารรวยหรือไม่, คนไทยกินอะไรในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ทีมข่าวหาคำตอบมาให้!
LINE MAN
อัตราการเติบโต : LINE MAN ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – ปัจจุบัน อัตราการเติบโตการใช้งานแอปพลิเคชั่น LINE MAN เพื่อใช้ในการสั่งอาหาร เติบโตเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าจากช่วงเวลาปกติ
โดยความต้องการใช้สูงสุดของแอปฯ ได้แก่ ฟู้ด เดลิเวอรี่, Mart Service (ผู้ช่วยซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต), Convenience (รับซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ) และ Messenger (ตามลำดับ)
อาหารที่ได้รับความนิยม : นอกจากอาหารไทย อาหารจานหลัก จานเดียว และอาหารอีสาน ที่ได้รับความนิยมสั่ง เพราะสามารถทานเป็นมื้อหลักแล้วนั้น ในช่วงนี้อาหารประเภทที่ก่อนหน้านี้ต้องรับประทานที่ร้านเท่านั้น เช่น ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง รวมถึงอาหารจากร้านคาราโอเกะ ก็มีการสั่งผ่านเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยจำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้บริโภคสั่งอยู่ที่สองร้อยกว่าบาทต่อออเดอร์ โดยผู้บริโภคสามารถเลือกชำระเงินแบบ Cashless(ไม่ต้องจ่ายด้วยเงินสด) ทั้ง Rabbit LINE Pay และ พร้อมเพย์
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคสั่งอาหารเยอะมากที่สุด คือ ช่วงเวลาเที่ยงกับเย็น โดยล่าสุดทาง LINE MAN ได้เชิญชวนให้ผู้บริโภคสั่งอาหารก่อน 11.00 น.-13.00 น. และ17.00-19.00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ผู้บริโภคสั่งอาหารจำนวนมาก
รายได้พนักงานส่งอาหาร : ทาง LINE MAN ไม่เปิดรายได้ต่อคนต่อวันของพนักงานส่งอาหาร แต่เปิดเผยข้อมูลเพียงเล็กน้อยว่า พนักงานส่งอาหารจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า
ทั้งนี้ ทาง LINE MAN ได้จัดหาหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้กับพนักงานขับทุกคน เพื่อให้สามารถส่งมอบอาหารไปยังลูกค้าได้อย่างปลอดภัย
Grab
อัตราการเติบโต : Grab ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า เมื่อเทียบจากอัตราการเติบโตก่อนวันที่ 21 มีนาคมที่รัฐบาลประกาศปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ศูนย์การค้า พบว่า บริการส่งอาหารเติบโตขึ้นจากช่วงปกติ ร้อยละ 30
โดย Grab ปรับลดเพดานค่าคอมมิชชั่นสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร (ไม่รวม GrabKitchen) จาก 0-35% เป็น 0-30% ครอบคลุมทั้งร้านค้าเดิมและร้านค้าใหม่ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้ง ยังเพิ่มสภาพคล่องเงินสดในการบริหารจัดการธุรกิจของร้านค้า โดย Grab จ่ายยอดขายคืนให้ร้านค้าได้ทันทีภายในวันรุ่งขึ้น
อาหารที่ได้รับความนิยม : ชานมไข่มุก, ก๋วยเตี๋ยว, ไก่ทอด, หมูทอด-ย่าง, อาหารญี่ปุ่น โดยช่วงเวลาที่ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 11:00 น.- 14:00 น. และ 18:00 น. – 20:00 น. ซึ่งจำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้บริโภคสั่งอยู่ที่ 200-250 บาทต่อออเดอร์
รายได้พนักงานส่งอาหาร : ข้อมูลจากการสอบถามพนักงานส่งอาหารโดยตรง พบว่า พนักงานส่งอาหารหรือที่ทาง grab เรียกว่า พาร์ทเนอร์ มีรายได้หลักร้อย – 1,800 บาทต่อวัน
โดยปัจจุบัน grab มีจำนวนคนขับมากกว่า 100,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งทาง grab ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนคนขับเพิ่มอีกกว่า 64,000 คน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563
foodpanda
อัตราการเติบโต : ทาง foodpanda ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด foodpanda มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เทียบเคียงในช่วงเวลาเดียวกัน หรือคิดเป็น 40-70% ต่อสัปดาห์ตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนทำงานที่บ้านในเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ ทาง foodpanda ได้ปรับนโยบายการจ่ายเงินให้พาร์ทเนอร์เป็นรายสัปดาห์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการหมุนเวียนเงินทุน รวมถถึงมีการสื่อสาร ชักชวนให้ผู้ใช้บริการชำระเงินแบบ cashless payment ทั้งในการชำระเงินทางบัตรเครดิตออนไลน์ หรือ โอนชำระโดย QR หรือ Mobile payment (promptpay) ให้กับทางไรเดอร์(พนักงานส่งอาหาร) เมื่อได้รับอาหาร
อาหารที่ได้รับความนิยม : ส่วนอาหารที่ผู้บริโภคนิยมสั่งจากในแอปพลิเคชั่น foodpanda คือ อาหารตามสั่ง สตรีทฟู้ด, ไก่ทอด และชานมไข่มุก โดยช่วงเวลาที่ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 11:00 น.- 13:00 น. และ 18:00 น. – 20:00 น. ซึ่งจำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้บริโภคสั่งอยู่ที่ 120-200 บาทต่อออเดอร์จากทั่วประเทศ
รายได้พนักงานส่งอาหาร : รายได้เฉลี่ยต่อวันของไรเดอร์อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท โดยคิดจากการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยจำนวนไรเดอร์เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และมียอดการติดต่อเข้ามาจากร้านอาหารแต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19ถึง 7,000 ร้านต่อสัปดาห์ เฉลี่ย 1,500 ร้านต่อวัน
ทั้งนี้ ทาง foodpanda ได้จัดหาหน้ากาก เจลล้างมือ ถุงมือพลาสติก และแอลกฮอล์ สำหรับการทำความสะอาดกระเป๋าบรรจุ เพื่อให้พนักงานส่งอาหารทำความสะอาดตลอดเวลา เพื่อให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ และความปลอดภัยของผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือ และการประสานงานกับทางกรมอนามัย ห้างสรรพสินค้า และ โรงพัก ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบช.น. ในการขอนุญาตให้พนักงานส่งอาหารสามารถเข้าไปตรวจอุณหภูมิร่างกายของตนเองก่อนเข้างานได้.