อีกหนึ่งความท้าทาย บทพิสูจน์วงการศึกษาไทยเมื่อเชื้อมรณะอย่างโควิด-19 ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คน แต่ยังสั่นคลอนระบบการศึกษาที่ทำให้อาจต้องมีการปฎิรูประบอบการศึกษาครั้งใหญ่
- ทางออกวิกฤตการศึกษา เลื่อนเปิด – งดปิดเทอม?
ภายหลังจากที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ออกมาเปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 18 พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. เพื่อให้เตรียมความพร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์ โดยจะต้องกำหนดวันให้แน่นอน แม้จะมีวัคซีนหรือไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม
โดยจะไม่มีการปิดเทอมในภาคการศึกษาที่จะถึง ซึ่งการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2563 จะไม่มีการปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือน ต.ค. 63 และ เม.ย.64 เนื่องจากมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ล่าช้าไปกว่า 2 เดือนแล้ว ดังนั้นจะต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้ครบตามหลักสูตร และมีการวางแผนปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อรองรับ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังเปิดเทอมไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนรับสมัครเข้าศึกษาต่อของเด็กในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนระดับการศึกษา หรือความเครียดที่เด็กจะได้รับเนื่องจากจะต้องมีการเรียนชดเชยเพื่อให้ครบตามหลักสูตรโดยไม่มีปิดเทอม หรือแม้กระทั่งคำถามว่าการเรียนออนไลน์สามารถทำได้จริงหรือ แล้วคุณภาพการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไร อีกทั้งเด็กด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี อันเป็นปัญหาลูกโซ่ที่รอการแก้ และสุดท้ายแล้ว อะไรคือทางออกที่ดีที่สุด?
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารณ์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์' ว่า “เรื่องการเลื่อนเปิดเทอมมีความจำเป็นและมีเหตุผลซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้เด็กไปโรงเรียนในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ผมเห็นด้วยเนื่องจากเราต้องปกป้องสิทธิ และชีวิตของเด็กให้ปลอดภัย แต่ไม่เห็นด้วยกับการเรียน 2 เทอมติดต่อกันเป็นเวลา 200 วันเนื่องจาก เด็กไม่ใช่ 'หุ่นยนต์'
"ผมคิดว่าเด็กจำเป็นจะต้องมีการพัก และต้องมีการเบรกช่วงรอยต่อระหว่างเทอม 1 และ 2 ซึ่งเมื่อเด็กได้พักจะทำให้เด็กกลับไปเรียนได้ดีขึ้น สดชื่นขึ้น ซึ่งในสถานการณ์นี้ เราจะต้องเอาชีวิตและความรู้สึกของเด็กเป็นที่ตั้ง ความเครียด ความกังวลของเด็กจะต้องเป็นประเด็นหลักมากกว่าเรื่องการเรียนให้ครบ 200 วัน"
"โดยการเรียนให้ครบนั้นเราสามารถทำได้อยู่แล้ว เนื่องจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเป็นคนกำหนด ทำไมเราไม่แก้ไขระเบียบนี้ หรือเสนอให้มีการเรียนแค่ 180 วัน เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้หยุดพักบ้างก็จะช่วยให้ความรู้สึกของเด็กดีขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
- เลื่อนเปิดเทอม กับ ผลกระทบที่ตามมา
ศ.ดร.สมพงษ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมา หากมีการเลื่อนเปิดเทอมว่า
1. หากเลื่อนปิดเทอม โดยที่ไม่มีการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน ชุมชนหรือสถานศึกษาให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เด็กจะขาดโอกาสการเรียนรู้หลายประการเนื่องจากถ้าอยู่บ้านตามลำพังแล้วพ่อแม่ไม่จัดการเรียน หรือออกแบบการเรียนรู้ให้เด็ก จะทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านทักษะ หรือออกกำลังกายน้อยลง มีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนต่ำ และเกิดการแยกตัวเอง
2. เรื่องการเลื่อนสอบเข้าศึกษาต่อ หรือการมอบตัว ในช่วงที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ แล้วจะย้ายการสมัครสอบเป็นทางออนไลน์ จะต้องระมัดระวังเรื่องการฝากเด็ก อาจจะเกิดปัญหาการสอดแทรกเด็ก เนื่องจากการรายงานตัว การมอบตัว หรือการสอบในระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น สามารถตรวจสอบได้ยาก
3. การปรับเปลี่ยนบทบาทของครูอาจจะต้องเป็นการเดินสอน ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ครูจะยืนสอนหน้าห้อง เมื่อสถานการณ์เช่นนี้ที่เด็กจะต้องอยู่ที่บ้าน การเรียนการสอนอาจจะต้องเปลี่ยนให้ครูไปเยี่ยมเด็ก โดยการไปสอนเด็กเป็นรายบุคคลมากขึ้น หรือจัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ เข้ามาพูดคุยปรึกษาหารืออภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยใช้การสลับกัน ควรนำโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้กลับมา ผสมผสานกับการเรียนระบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างพ่อแม่ ครู และชุมชน
ขณะที่ นางสาวอรรฆภา อ่อนน้อม ครูภาควิชาภาษาไทยประจำโรงเรียนวัดราชโอรส กล่าวเสริมว่า “การเลื่อนเปิดภาคเรียนจะกระทบเด็กที่กำลังจะเปลี่ยนสถานศึกษาอย่างป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้นม.4 โดยจะเป็นในด้านของความเครียดที่ยังไม่มีที่เรียนชัดเจน อาจะรู้สึกเคว้งคว้าง ส่วน ม.6 ที่จะขึ้นมหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมเด็กกลุ่มนี้มีความเครียดในการคาดหวังกับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว”
เมื่อพูดถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังการการเลื่อนการเปิดเทอม จะส่งผลกระทบการการศึกษาในหลายมิติ เนื่องจากวัยวุฒิที่ต่างกันของแต่ละช่วงระดับชั้น ซึ่งเด็กแต่ละวัยอาจได้รับผลกระทบต่างกัน
ด้าน นางสาวสุธาศิณี ตี่ด้วง คุณครูระดับประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครให้สัมภาษณ์ว่า “เนื้อหาทั้งหมด เด็กจะทิ้งไปเลย เปิดเทอมมาจะต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เด็กจะติดเกม เล่นมือถือ ซึ่งพอเปิดเรียนมาจะมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างแน่นอน”
- ไร้ปิดเทอม เผชิญความเครียด ยัดเยียดความรู้
การปิดเทอมคือช่วงเวลาที่เหล่านักเรียนจะได้พักผ่อนจากการเรียนที่โหมหนักตลอด 1 ภาคการศึกษา บ้างจะได้มีเวลาในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ หรือบางคนจะได้มีเวลาช่วยงานที่บ้านอย่างเต็มที่ เป็นช่วงเตรียมความพร้อมทั้งกาย และใจ เพื่อการเริ่มต้นเรียนในภาคการศึกษาถัดไป แล้วหากไม่มีการปิดเทอมจะเกิดอะไรขึ้น?
นางสาวอรรฆภา ครูภาควิชาภาษาไทยประจำโรงเรียนวัดราชโอรส กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่พวกครูเป็นห่วงกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าจะมีการเรียน 7 วัน เมื่อเด็กทราบข่าว ก็มีเสียงโอดครวญว่าจะทำได้อย่างไร โดยส่วนตัวมองว่าควรจะช่วยเหลือ ด้วยการปรับลดภาระงานเพื่อผ่อนเบาให้กับเด็ก หรืออาจจะต้องมีกิจกรรมบางอย่างที่ต้องลด หรือเสริมโดยที่จะต้องดูสภาพอารมณ์ของเด็กในขณะนั้นว่าเป็นไปในทิศทางใด ควรมีกิจกรรมที่ลดความเครียดของเด็กที่เราอาจจะต้องเสริม แต่กิจกรรมบางอย่างที่ทำแล้วเป็นการเพิ่มภาระให้กับเด็กเราอาจจะต้องลดลง และสภาพอากาศช่วงเดือนมีนาคม เมษายนไม่เอื้อต่อการเรียนเนื่องจากเป็นหน้าร้อน”
ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า “ธรรมชาติการศึกษาของเด็กจะต้องได้รับการพักผ่อนในช่วงระยะหนึ่ง สังเกตได้จากเวลาใกล้เปิดเทอมเด็กหลายคนจะรู้สึกดีใจเพราะจะได้ไปเจอเพื่อน และพอใกล้จะปิดภาคเรียนเด็กก็ดีใจที่จะได้พัก ดังนั้นหากเด็กเรียนตลอด 200 วันจะเป็นการทำลายความกระตือรือร้น ความกระหายใคร่รู้ของเด็ก และจะทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับชีวิต และความรู้สึกของเด็ก ดังนั้น ควรมีการสำรวจก่อนว่าผู้ได้รับผลกระทบเห็นด้วยหรือไม่ก่อนจะมีการออกนโยบาย"
"แนวทางแก้ไข ต้องลดจำนวนจาก 200 วันให้เหลือ 180 วันให้มีช่วงพัก 2 อาทิตย์ นำเรื่องการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นำการเรียนทั้งในโรงเรียน และนอกโรงเรียนมาใช้ให้เชื่อมโยงกัน ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นการเดินสอนลงชุมชนเยี่ยมครอบครัวเด็กเป็นรายบุคคลมากขึ้น โดยจะต้องไม่ตีกรอบว่าโรงเรียนจะเป็นผู้ให้ความรู้กับเด็กเพียงอย่างเดียว” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
- เรียนออนไลน์ – โทรทัศน์ทางไกล ทำได้จริง หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า “ทำได้แต่ไม่สมบูรณ์ เนื่องปัจจัยที่แตกต่างทั้งเรื่องอินเทอร์เน็ต และสื่อรับสารปลายทาง โดยจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในโรงเรียนจะต้องมีการติดตั้งอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพดีและจะต้องเสถียร"
"โดยการเรียนออนไลน์บางรายวิชาสามารถสอนได้ แต่ไม่ใช่ทุกวิชาเพราะหากสอนออนไลน์ทุกวิชา คุณภาพการศึกษาจะเหลืออยู่แค่ 60-70 เปอร์เซ็นเพราะผู้เรียนขาดการฎิสัมพันธ์ ขาดการปฎิบัติ เนื่องจากมีปัญหาและข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้น การสอนออนไลน์เป็นเพียงแค่วิธีการแก้ปัญหาหนึ่งเท่านั้น เพราะหลายวิชาเป็นการเน้นปฎิบัติ ซึ่งจะต้องถูกออกแบบการเรียนการสอนใหม่”
ขณะที่ นางสาวอรรฆภา เปิดเผยว่า “เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เด็กทุกคนจะพร้อม ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ที่สามารถเรียนรู้ในส่วนตรงนี้ได้ จึงมองว่าการเรียนออนไลน์น่าจะเป็นส่วนเสริม ในช่วง 3 เดือนนี้ เพื่อดึงให้เด็กยังอยู่ในเรื่องของการศึกษาอยู่”
“การเรียนทางโทรทัศน์เป็นการเรียนแบบทางเดียว ซึ่งไม่มีการโต้ตอบเสมือนการเสพสารด้านเดียว เด็กไม่สามารถโต้ตอบกับครูได้เลย ก็จะวนกลับไปที่ปัญหาหลักคือ ผู้ปกครองจะต้องมีความพร้อมที่จะกำกับดูแล คอยสอนในส่วนที่เด็กไม่เข้าใจ และในชนบทห่างไกลเด็กบางบ้านยังไม่มีแม้แต่โทรทัศน์จะดู โดยในความเป็นจริงอาจจะคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นสำหรับเด็กที่พร้อม แล้วอีก 20 เปอร์เซ็นของเด็กที่ด้อยโอกาสจะทำอย่างไร จะทิ้งเขาเหรอ” นางสาวสุธาศิณีกล่าว
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ออนไลน์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ถึงปัญหาดังกล่าว โดยได้รับคำตอบดังนี้
- มีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลื่อนเปิดภาคเรียน และงดปิดภาคเรียนอย่างไร?
นายอำนาจ กล่าวว่า “หลักเกณฑ์ คือ จะต้องไม่กระทบต่อการเปิดเรียนในปีหน้า โดยจะต้องเปิด 15 พ.ค. 64 เหมือนเดิม แต่ปีนี้เราเล็งเห็นว่า ระยะเวลาที่จะเลื่อนได้คือประมาณ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งในการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค. 63 จะไม่มีการปิดเทอม โดยจะเรียนติดต่อกันจนถึง 30 พ.ย. 63 และภาคเรียนที่ 2 เริ่ม 1 ธ.ค. 63 ไปจนถึง 30 เม.ย. 64 ซึ่งจะสามารถทดแทนช่วงเวลาที่เสียไปได้ โดยในปีหน้าเราจะสามารถเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ”
- หากเมื่อถึงเวลาเปิดภาคเรียนแล้วสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย?
เลขาสพฐ. ให้ข้อมูลว่า "เรามีการเตรียมการศึกษาออนไลน์ ซึ่งหากสถานการณ์เลวร้ายลงเราจะไม่เลื่อนการเปิดภาคเรียน แต่จะเลือกให้มีการเรียนการสอนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเราได้ขอความอนุเคราะห์จากทาง กสทช. ในการมอบช่องโทรทัศน์ 13 ช่องเพื่อใช้เปิดให้กับเด็กและผู้ปกครองชม รวมถึงการใช้สื่อ หรือบทเรียนจากมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมที่มีสื่อการเรียนการสอนหลาระดับชั้นตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นม.3 สำหรับนักเรียนชั้นม.ปลาย เราจะให้คุณครูเป็นผู้ผลิต โดยในช่วงเลื่อนเปิดภาคเรียนนี้เราก็จะให้แต่ละโรงเรียนเรียนรู้รูปแบบการเรียนการสอนผ่านทางไกล ส่วนผู้ปกครองจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ปกครองเป็นครูช่วยสอนเด็ก ซึ่งเราจะมีตารางการเรียนการสอนให้ในโครงการเปลี่ยนบ้านให้เป็นห้องเรียน"
"หาก 1 ก.ค. สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายเราก็จำเป็นจะต้องเปิดเทอมโดยใช้การเรียนการสอนผ่านทางไกล โดยให้คุณครูทำใบงานแจกไปตามบ้านของนักเรียน และสื่อสารกันทางเทคโนโลยีโดยใช้ระบบออนไลน์ต่างๆ หรือในส่วนของเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้จริงๆ อาจจะต้องมีครูที่ต้องลงไปเยี่ยมพบปะ โดยหมุนเวียนกันไป ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมงบประมาณช่วยเหลือในส่วนนี้ไว้แล้ว"
- เด็กที่ไม่พร้อม หรือด้อยโอกาสจะทำอย่างไร?
นายอำนาจ ให้สัมภาษณ์ว่า “เราใช้โทรทัศน์เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งทุกบ้านมีอยู่แล้ว แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีจริงๆ เราก็ให้คุณครูส่งใบงานเพื่อติดตามดูแลเด็กตามบ้านซึ่งมีน้อยมากสามารถดูแลได้รายบุคคล ส่วนสัญญาณโทรทัศน์เข้าถึงทุกพื้นที่ในประเทศไทยแล้ว จะมีน้อยมากที่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเช่น บนดอย เกาะต่างๆ ก็จะต้องแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไป โดยจะให้คุณครูเดินทางไปสอนที่บ้านเป็นรายคน หรือจะให้เด็กมาเรียนแต่มีการนั่งเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย แต่โดยภาพรวมสามารถดูผ่านโทรทัศน์ได้”
- ประสิทธิภาพการเรียนการสอนจะด้อยลงหรือไม่?
นายอำนาจ ให้คำตอบว่า ในภาะวะวิกฤตเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาที่การเรียนตามปกติจะมีข้อจำกัด แต่สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือความปลอดภัยและสุขภาพของเด็ก แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายก็ต้องใช้หลักของการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากมีประสิทธิภาพมากกว่า
- แนวทางรับมือกับความเครียด ความเหนื่อยล้าหากเด็กไม่ได้ปิดเทอม?
นายอำนาจ กล่าวว่า เรามีการยืดหยุ่นว่า หากโรงเรียนใดอยากจะสอนชดเชยวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ จะเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์บางวันเพื่อชดเชย ใน 1 ภาคเรียนมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โดยอาจจะมีช่วงพักปิดภาคเรียนสัก 5-10 วันแทนก็ทำได้ หรืออาจจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงจากวันละ 5 ชั่วโมงเป็น 6 ชั่วโมงอย่างนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยทั้งหมดให้ขึ้นอยู่กับทางดุลยพินิจของโรงเรียนเป็นหลัก โดยเรากำหนดเป็นกรอบกว้างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถปฎิบัติได้
- นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเลื่อนรับสมัครมีแนวทางอย่างไร?
นายอำนาจ กล่าวว่า "ตอนนี้เรากำหนดวันเวลาในการรับสมัครเด็กเข้าเรียนต่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่เพียงกลุ่มเดียวคือกลุ่มทั่วไป ส่วนการสอบ หรือการสมัครในกลุ่มอื่นนั้นเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ในส่วนของกลุ่มทั่วไปจะแบ่งเป็นโรงเรียน 2 ประเภทคือโรงเรียนประเภทที่มีแผนการรับนักเรียนแล้วไม่ครบตามแผน หรือพอดีแผนพวกนี้สามารถจัดห้องเรียนได้เลยไม่มีปัญหา
ส่วนที่สมัครมากกว่าจำนวนแผนที่จะรับได้จะต้องสอบแข่งขันตามกระบวนการคัดเลือกนักเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด โดยตอนนี้เราจะยังไม่รับสมัครเด็กกลุ่มนี้้ จากเดิมที่จะต้องสมัครตั้งแต่วันที่ 21-25 มี.ค. และม.1 สอบ 28 มี.ค. ม.4 สอบ 29 มี.ค. ดังนั้น เราจะมีการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้้นพื้นฐานในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ซึ่งจะมีการสมัครผ่านทางออนไลน์ โดยส่งทางอีเมลล์ หรือทางไปรษณีย์ ไลน์ หรือเอกสารอื่นตามที่โรงเรียนกำหนด โดยจะรับสมัครตั้งแต่วันที่ 3 - 12 พ.ค. 63
อย่างไรก็ตามการสอบคัดเลือกจะต้องดูตามสถานการณ์ เพราะการสอบนั้นจำเป็นจะต้องให้เด็กมาสอบด้วยตนเอง เนื่องจากการสอบออนไลน์ยังไม่มีวิธีที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคกับเด็กนักเรียนได้"
เลื่อนเปิดเทอม
สพฐ
ไม่มีปิดเทอม
งดปิดเทอม
โควิด19
ศธ
กระทรวงศึกษาธิการ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
รมวศึกษาธิการ