อุตตม แจงเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท ระบุ เบื้องต้นจะช่วยแค่ 3 เดือนก่อน ถ้าสถานการณ์โควิด-19 จบเร็วก็จะยุติการจ่ายเงิน
ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีแจกเงินเยียวยา 5,000 บาทในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
"จากการชี้แจงของผม ต่อกรณีการยืดระยะเวลาผู้ได้รับการเยียวยาจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน น่าจะสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนได้แล้ว แต่ก็ยังมีอีกบางกรณีที่จำเป็นต้องชี้แจงเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าอาจมีผู้เดือดร้อนบางกลุ่มไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ดังที่ผมอธิบายไปว่าตัวเลขระยะเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการตั้งกรอบระยะเวลางบประมาณ โดยประมาณการรายจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งสามารถปรับระยะเวลายืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ โดยเงินเยียวยานี้อยู่ภายใต้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นก้อนงบประมาณเพื่อเยียวยา 6 แสนล้านบาท และก้อนงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 4 แสนล้านบาท
ดังนั้นในหลักการ เม็ดเงินในก้อนเยียวยา 6 แสนล้าน หากประเมินแล้วเห็นว่ายังสามารถใช้ขยายความช่วยเหลือไปยังกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเพิ่มเติมได้อีก กระทรวงการคลังก็จะดำเนินการ เพราะตั้งงบประมาณเผื่อไว้แล้ว และหากงบประมาณ 6 แสนล้านไม่พอ ก็ยังสามารถนำงบประมาณในส่วนของการฟื้นฟู 4 แสนล้านมาใช้เพื่อการเยียวยาได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เป้าหมายของมาตรการเยียวยานั้น กระทรวงการคลังต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องช่วย และให้ครอบคลุมมากที่สุด ส่วนกลุ่มที่ได้รับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆของรัฐอยู่แล้ว ก็ขอให้ท่านเหล่านั้นใช้สิทธิเดิมที่มีอยู่ เช่น กลุ่มประกันสังคมตาม ม. 33 เป็นต้น
ขณะเดียวกันหากมีกลุ่มใดนอกเหนือจากนี้ เห็นว่าจำเป็นต้องช่วยเหลือ ก็จะมีมาตรการออกมารองรับได้อีก"
ด้านนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า การลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ขณะนี้ยังเปิดลงทะเบียนให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อน ยืนยันระบบ AI ที่ใช้ตรวจสอบคุณสมบัติมีมาตรฐานเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งนำระบบดังกล่าวมาใช้ช่วยเหลือโครงการของรัฐ
โดยยอมรับว่าการจ่ายเงิน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ กระทรวงการคลัง จึงเสนอ ครม. ช่วยเหลือต่อเนื่องยาว 6 เดือน แต่หากสถานการณ์ยุติเร็ว อาจไม่ต้องจ่ายเงินยาวถึง 6 เดือน และหากกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือ 9 ล้านคน มีผู้เดือดร้อนเพิ่ม กระทรวงการคลังสามารถปรับโยกเงินช่วยเหลือ 6 แสนล้านบาท เดิมที่ตั้งไว้ เพื่อปรับโยกเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 4 แสนล้านบาท มาใช้เพิ่มเติมได้
+ อ่านเพิ่มเติม