ชุดชั้นใน ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่การเป็นสาวเอาะเต็มตัว ทั้งเพื่อปกปิดเนื้อหนังในส่วนที่ทุกคนถือว่าเป็น ‘สิ่งสงวน’ และจัดทรงให้สวยไม่หย่อนคล้อยตามความนิยมของสาวเอเชีย เพราะความไม่เหมาะสมในสังคมจึงถือเป็นเรื่องอนาจารหากผู้หญิงเปิดเผยหน้าอกในที่สาธารณะ และด้วยเหตุผลนี้ทำให้ผู้หญิงบางคนตั้งคำถามกับเรื่องนี้ว่า ทำไมเขาถึงไม่สามารถเปิดเผยร่างกายของตัวเองออกมาได้เหมือนอย่างที่ผู้ชายทำ ?
‘ลีนา เอสโก’ นักแสดง ผู้กำกับ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอเมริกาก่อตั้งแคมเปญ ‘Free The Nipple’ ซึ่งเป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรี และส่งเสริมให้ทุกเพศมีความเท่าเทียมกันในเรื่องการเปลือยหน้าอก โดยไม่ถูกสังคมมองเป็นเรื่องลามก อนาจาร โดยปล่อยภาพยนตร์สารคดี ที่มีหญิงสาวเปลือยหน้าอกขณะวิ่งบนถนนในนิวยอร์กในปี 2557 จากนั้นการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรีได้เปิดกว้างออกไป ด้วยการไม่สวมบรา หรือ #Nobar
โนบราในบ้านเรานั้นยังคงถูกมองว่า ‘ไม่ควร’ เนื่องด้วยวัฒนธรรม ประเพณี ทำให้สาวไทยถูกสอนให้รักเนื้อสงวนตัว ต้องแต่งกายอย่างมิดชิด ทำให้เรื่องโนบรานั้นยังถือเป็นเรื่องอนาจาร ซึ่งมีความแตกต่างจากเพศชายที่เปลือยส่วนบนของร่างกายได้โดยไม่ถือว่าอนาจาร สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเพศชายและเพศหญิง ภายใต้บริบทของสังคมไทย แม้ในปัจจุบันจะมีการเปิดกว้างทางความคิดและได้รับวัฒนธรรมตะวันตกมามาก แต่หญิงสาวที่ไร้บราก็ยังถูกมองว่าทำตัวแรง เซ็กซี่ยั่วเพศ ไม่แคร์สื่อใด ๆ ทั้งที่มันอาจเป็นเพียงแค่ความสบายกาย สบายใจของบางคนเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หญิงไทยมองว่าการเปลือยหน้าอกในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องปกติ โดยมีหลักฐานที่ยืนยันเป็น ภาพวาดตามฝาผนัง งานจิตรกรรม หรือภาพถ่ายต่าง ๆ โดยสาเหตุนั้นอาจจะมาจากสภาพอากาศของบ้านเราที่ร้อนตับแตก ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและกาลเทศะ อาทิเช่น การไปทำบุญที่วัด ซึ่งผู้หญิงไทยไม่ได้มองว่ามันมีการยั่วกามอารมณ์ แต่เนินอกเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นสาว หรือเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น
ในยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือยุคสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ การแต่งกายของผู้หญิงในสมัยนั้นจะต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ต้องปกปิดเต้านมหรืออาจเปิดได้แค่บริเวณเนินอกเท่านั้น และเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเริ่มจากการให้ผู้หญิงในราชสำนักหาผ้ามาปกปิดเต้านม และได้แพร่หลายไปยังชาวบ้าน ทั้งในเมืองและชนบท มาจนถึงปัจจุบัน
ในเอเชียนั้น โนบราโด่งดังขึ้นมาจากการที่ ‘ซอลลี่’ อดีตเกิร์ลกรุ๊ปวง f(x) ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว โพสต์รูปตัวเองสวมเสื้อแบบโนบราลงในอินสตาแกรมส่วนตัวอยู่บ่อย ๆ โดยเธอได้ออกมาเผยว่า “ฉันคิดว่าบราก็เหมือนเครื่องประดับ มันก็มีชุดที่เหมาะกับใส่บรา แล้วก็ชุดที่ไม่เหมาะกับการใส่บราด้วยเหมือนกัน"
ต่อมาสาวสุดแซ่บ ‘ฮวาซา - Mamamoo’ สวมเสื้อยืดโดยไร้บราด้านใน หลังจากกลับจากฮ่องกง แม้จะมีกระแสโจมตีอยู่บ้าง แต่ทั้ง 2 สาวก็ยังคงยืนยันในจุดยืนของเธอ นอกจากนี้ยังมีสาวเกาหลีบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวในเรื่อง เสรีภาพส่วนบุคคล กันมากขึ้นอีกด้วย
โนบรา ไม่ใช่การออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรีเท่านั้น แต่สำหรับบางคนเลือกที่จะไม่สวมบราเพราะความสบายกายและไม่รู้สึกอึดอัด
มีผลวิจัยจากศาสตราจารย์ Jean-Denis Rouillon ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ Franche-Comté ในเมือง Besançon เปิดเผยว่าชุดชั้นในไม่ได้มีผลต่อการยกกระชับหน้าอก แถมยังชะลอการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อหน้าอกอีกด้วย โดยติดตามศึกษาและทดลองกับผู้หญิงอายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 35 คน เป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปี โดยกล่าวว่า
“จากผลการทดสอบของเราในครั้งแรกจากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ยกทรงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อผู้หญิงเลย ทั้งทางการแพทย์ และทางกายภาพ หน้าอกไม่ได้รับประโยชน์จากการที่มียกทรงช่วยประคองไม่ให้หย่อนคล้อยไปตามแรงโน้มถ่วงอย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้าม หน้าอกจะอ่อนแอ ไม่กระชับเมื่อมียกทรง”
นอกจากนี้ผู้หญิงที่ไม่สวมยกทรงยังจะมีขนาดและรูปร่างของหน้าอกดีกว่าผู้ที่สวมยกทรงเป็นประจำ เพราะกล้ามเนื้อของพวกเธอจะถูกพัฒนามากกว่า การสวมมยกทรงจะทำให้หน้าอกหย่อนคล้อยเร็วกว่าเดิม
การเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพในการเปิดเผยร่างกายที่เท่าเทียมกัน หรือ โนบรา ในยุโรปนั้น ณ ตอนนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ฟรีสไตล์ไปแล้ว และในฝั่งเอเชียก็ยังมีหลายประเทศที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว รวมถึงในประเทศไทยที่หลายคนให้ความสนใจและสวมเสื้อไร้บราตามเสรีภาพของตนเอง แต่ยังคงไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความเหมาะสม กาลเทศะและสถานที่
เรื่องโดย : ไอลดา สุนทรวรพจน์