เชียงราย - อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) และส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปิดนิทรรศการศิลปะบนตู้ไปรษณีย์ โดยเป็นการจัดแสดงนิทรรศการตู้ไปรณีย์ที่ทางศิลปินได้ทำการวาดภาพระบายสีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของเชียงราย
ซึ่งบรรดาศิลปินต่างทำการวาดได้อย่างงดงามและมีความโดดเด่น และบนตู้ไปรษณีย์ยังมีแผงโซลล่าเซลล์เพื่อการติดตั้งที่ชาร์ตผ่านยูเอสบี รวมทั้งคิวอาร์โค้ด เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยนิทรรศการจะจัดขึ้นไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคมนี้
ทั้งนี้ โครงการวาดภาพบนตู้ไปรษณีย์เบื้องต้นจะมีตู้ไปรษณีย์ต้นแบบนี้จำนวน 15 ตู้ก่อน โดยทาง ททท.ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) นำร่องจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวที่ไปพบตู้ไปรษณีย์ศิลปะดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆ แล้วเช็คอินถ่ายภาพคู่กับตู้ไปรษณีย์ดังกล่าวครบ 5 ตู้ในสถานที่ที่แตกต่างกันและต้องตั้งอยู่ต่างอำเภอกันอย่างน้อย 2 อำเภอ
จากนั้นนำมาแชร์ผ่านสื่อสาธารณะหรือโชลเชียลมีเดีย ก็สามารถไปรับรางวัลได้ต่อไป ปัจจุบันกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยมีอายุเข้าสู่ปีที่ 137 แล้วและมีตู้ไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 ตู้อย่างไรก็ตามปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากตู้ไปรษณีย์ลดลงจึงมีการนำมาพัฒนาสร้างให้เกิดประโยขน์ต่อไป
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าโครงการวาดภาพบนตู้ไปรษณีย์ครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีอย่างมากเพราะทำให้เกิดประโยชน์หลายด้าน โดยทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย และไปรษณีย์ไทยดี เมื่อประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทั้งในและต่างประเทศ ก็จะเกิดความประทับใจในความมงดงาม แล้วร่วมถ่ายภาพนำออกไปเผยแพร่
ซึ่งหากว่าเป็นตู้ไปรษณีย์ปกติคงจะไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าทำให้สวยงามคนจะสนใจแน่นอน ตนเห็นว่าการดำเนินการใน จ.เชียงราย เป็นการนำร่องที่สามารถเป็นต้นแบบไปสู่ตู้ไปรษณีย์ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นได้แสดงฝีมือเพื่อสิ่งดีงามให้กับบ้านเมืองได้ต่อไป โดยกรณีของตู้ไปรษณีย์ที่จัดทำในครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศโดยใช้ศิลปะ และทำให้สามารถสู้กับความทันสมัยของประเทศอื่นๆ ได้เพราะเรามีจุดเด่นตรงนี้
ทั้งนี้เบื้องต้นจะนำตู้ไปรษณีย์ทั้งหมดจัดแสดงที่วัดร่องขุ่นก่อน เพราะเป็นจุดที่ดีที่สุดและจะมีนักท่องเที่ยวแวะไปชมวันละอย่างน้อย 5,000 คนแน่นอน เมื่อเขาได้เข้าชมก็จะได้ถ่ายภาพแล้วนำไปเผยแพร่ต่อๆ กันไปอย่างแพร่หลาย เมื่อมีคนไปชมมากๆ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร
+ อ่านเพิ่มเติม