การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit ครั้งที่ 35) ปี 2562 ตามแนวทางการประชุม Green Meeting ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดย GC ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืน (Partner for Sustainability) พร้อมจัดทำของที่ระลึกที่ผลิตจาก ‘พลาสติกรีไซเคิล’ ถักทอด้วยฝีมือชุมชน
ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) GC กล่าวว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืน (Partner for Sustainability) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 รวมทั้งได้รับความไว้วางใจให้จัดทำของที่ระลึกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้
โดย GC พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมโดยสร้างความตระหนักรู้ และผลักดันให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลาสติกอย่างรู้ค่า ใช้ซ้ำ นำมาแปรรูปด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และทิ้งโดยมีการคัดแยกเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านรูปแบบการสนับสนุนต่างๆ
ในฐานะของการเป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืน (Partner for Sustainability) ในงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งที่ 35 นี้ GC ร่วมสร้างความภาคภูมิใจในฐานะภาคธุรกิจของไทยผ่านการจัดทำผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดำเนินงานภายใต้โครงการ PE Recycle หรือการผลิตของที่ระลึกจากนำพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า มาสร้างสรรค์ออกแบบ และผสมผสานการถักทอด้วยฝีมือชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยสร้างรายได้แก่คนในชุมชน อาทิ
1. ของทีะลึกผลิตโดยใช้กระบวนการ Upcycling จากขยะพลาสติก ประเภทโพลิเอทิลีน (PE) จำนวน 2 แบบ ได้แก่
ซองใส่ iPad โดยใช้เป็นวัสดุจากการถักทอเส้นด้ายรีไซเคิลซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน (PE) โดยฝีมือ 2 ชุมชนจังหวัดระยองได้แก่ ชุมชนเนินสำเหร่ 1 และชุมชนเจริญพัฒนา เพื่อเป็นของที่ระลึกในการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2562 โดยซองใส่ iPad 1 ชิ้นเทียบเท่ากับการใช้ขยะถุงพลาสติก 36 ใบเป็นวัตถุดิบ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,124 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากต้นไม้จำนวน 27 ต้น ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน และเป็นการสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
กระเป๋าแบบซองใส่เครื่องเขียน ผลิตจากความงดงามของเส้นไหมผสมผสานกับเส้นด้ายรีไซเคิลจากฝีมือการถักทอของกลุ่มแม่บ้าน จังหวัดสุโขทัย ซึ่งของชำร่วยชิ้นนี้เป็นสินค้าของแบรนด์ VINN PATARARIN หนึ่งในพันธมิตรของ GC ที่ร่วมกันผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนับเป็นการนำขยะที่มักถูกมองว่าไม่มีค่า ให้กลับกลายมาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยกระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling)
2. ช้อนและส้อม โดยผลิตจากพลาสติกชีวภาพ (Compostable Bio-plastic) สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ตลอดการประชุมสุดยอดอาเซียนจัดขึ้นในปี 2562
3. เสื้อโปโลตราสัญลักษณ์อาเซียน ใส่นวัตกรรมผ่านกระบวนการ Upcycling จากขวดพลาสติก (PET) สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน
ดร. คงกระพัน กล่าวอีกว่า เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต GC ดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนวัตกรรมด้าน Green โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างหมุนเวียน รู้คุณค่า และให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะและทิ้งอย่างถูกวิธีในโครงการทิ้ง-ไซเคิล (ThinkCycle)
รวมถึงการนำพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า มาสร้างสรรค์ออกแบบร่วมกับดีไซน์เนอร์ ผสมผสานการถักทอด้วยฝีมือชุมชนจังหวัดระยอง ทำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้ขยะไม่เป็นขยะอีกต่อไปในโครงการ PE Recycle และโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ที่เป็นการร่วมมือกันของ 3 พันธมิตร ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และ GC ในการลดปัญหาจากขยะพลาสติกในทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย ด้วยการนำขยะที่เก็บขึ้นมาจากทะเล มานำไปแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า และกระเป๋าเป้ ผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) โดย GC ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ GC ยังได้ขยายความร่วมมือกับ Partner ที่มีศักยภาพ เพื่อผลักดันให้ GC Circular Living ได้รับการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า เป็นสินค้าแฟชั่นทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2561 GC ร่วมกับ Jim Thompson แบรนด์ผ้าไหมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ร่วมด้วยนักออกแบบผ้าจากวัสดุรีไซเคิลที่มีชื่อเสียงอย่าง อาจารย์ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ทดลองออกแบบ และผลิต Prototype จาก rPET Recycle ที่ได้จากขวดพลาสติกใช้แล้วนำมาผ่านกระบวนการ upcycling ถักทอร่วมกับเส้นไหมของ Jim Thompson เกิดเป็นชิ้นงานที่งามด้วยเอกลักษณ์ไทยและทรงคุณค่า อันได้แก่ เนคไทด์, ผ้าพันคอ
ทั้งนี้ก็เพื่อผลักดันให้ GC Circular Living ได้รับการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า ซึ่งของที่ระลึกดังกล่าวเป็นดั่งสัญลักษณ์ส่งต่อให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาขยะทะเลร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดหลัก ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนของอาเซียนทุกมิติ
“นอกจากคนไทยจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นการส่งต่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่คือ การที่เราได้แสดงให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เห็นว่า ประเทศไทยนำโดยภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนมีการตระหนักรู้ และนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และหลักการ 3R (การลด การใช้ซ้ำ และการ รีไซเคิล) มาปรับใช้ รวมถึงยึดมั่นในการร่วมดูแลรักษาทะเล และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง”