วันที่ 27 ส.ค. 62 ที่ประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยคำร้องที่ กกต. ขอให้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ของ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ประกอบด้วย
1. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
2. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
3. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5)หรือไม่ จากกรณีถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นสัมปทานกับรัฐ
โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติ ให้ ความเป็นรัฐมนตรีของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) และห้ามดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ ลาออกจากตำแหน่ง
เนื่องจาก ระหว่างดำรงตำแหน่ง คู่สมรส ของ นพ.ธีระเกียรติ ซื้อหุ้นบริษัท ปูนซีเมนต์ไทยฯ ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาสัมปทานรัฐ เพิ่มเติม 800 หุ้น ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญจึงให้สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ส่วน อีก 3 รัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า มีการถือครองหุ้นก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยไม่ได้ซื้อเพิ่มเติม ไม่ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี ของ 3 รัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ทั้งนี้ ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะส่งผลให้นายแพทย์ธีระเกียรติไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ในช่วง 2 ปีแล้ว ยังอาจมีผลให้พ้นจากความเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งปัจจุบันด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดลักษณะต้องห้ามการเป็น สว.ว่า ต้องไม่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเหตุแห่งการสิ้นสภาพความเป็นสว.จากการกระทำการอันเป็นการต้องห้าม จากการเป็นคู่สัญญากับรัฐ และการถือครองหุ้นสัมปทานรัฐ
+ อ่านเพิ่มเติม