ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพระเชษฐภคินีพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติ คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี”
โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่
-สร้อยพระนาม "สิริ" มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
-สร้อยพระนาม "วัฒนา" มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกาฝ่ายพระราชชนก
-พระนาม "อุบลรัตน์" มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระอัยยิกาฝ่ายพระราชชนนี
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสเรียกว่า "เป้" อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ตุ๊กตา ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่" ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า "พี่หญิง"
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นจนสำเร็จจากโรงเรียนจิตรลดา ครั้นทรงสำเร็จมัธยมศึกษา ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ณ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จในการศึกษา
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชนเพื่อทรงอภิเษกสมรสกับปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน ในพระบรมหาราชวังตามพระราชประเพณี แล้วเสด็จไปประทับด้วยพระสวามี ณ สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2515 ทั้งทรงเปลี่ยนพระนามเป็น จูลี เจนเซน ทั้งสองมีพระโอรส-พระธิดา 3 คน ทั้งหมดเกิดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ คุณพลอยไพลิน เจนเซน สมรสกับเดวิด วีลเลอร์ มีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 1 คน คุณพุ่ม เจนเซน (นามเดิม ภูมิ เจนเซน เสียชีวิตในเหตุการณ์คลื่นสึนามิทางภาคใต้ของไทยปี พ.ศ. 2547)และ คุณสิริกิติยา เจนเซน (นามเดิม ใหม่ เจนเซน)
ก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2544 ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยทรงจัดตั้งโครงการทูบีนัมเบอร์วัน ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการช่วยเหลือราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทรงตั้งมูลนิธิชีวิตสดใสเป็นองค์การสาธารณกุศล นอกจากนี้ยังทรงตั้งมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่างๆ
ด้านกีฬา ทรงมีพระปรีชาในกีฬาเรือใบ ทรงเคยเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในฐานะนักกีฬาทีมชาติ กีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 และทรงทำคะแนนรวมเป็นที่ 1 เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงร่วมการแข่งขันเช่นกัน จึงได้รับพระราชทานเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ผลงานในวงการบันเทิง ทรงละคร อาทิ กษัตริยา มหาราชกู้แผ่นดิน อนันตาลัย ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน รวมถึงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์ อาทิ หนึ่งใจ..เดียวกัน มายเบสท์บอดี้การ์ด และพระนางจามเทวี ภาพยนตร์ทั้งสามเข้าฉายในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยเสด็จไปทรงร่วมงานเทศกาล และนำรายได้ทั้งหมดในการจัดฉายภาพยนตร์ไปช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยพิบัติทั่วประเทศ พร้อมกับทรงถ่ายรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับพระองค์ตามคำกราบทูลเชิญของคณะบุคคลต่างๆ ได้แก่ รายการทูบีนัมเบอร์วัน วาไรตี้ พรินเซสไดอารี และทรงมีผลงานเพลงหลายผลงานด้วย
ด้านเทคโนโลยี ทรงเป็นเจ้าฟ้าสมัยใหม่ มีช่องทางสื่อสารกับประชาชนโดยตรงผ่านโซเชี่ยลมีเดีย อินสตาแกรม โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า Nichax เพื่อโพสต์พระรูปส่วนพระองค์ในพระอิริยาบถต่างๆ ด้วยพระจริยาวัตรเรียบง่าย ให้ประชาชนเข้าไปชื่นชมและพูดคุยจนเป็นที่ชื่นชมจากพสกนิกรว่าทรงเป็นเจ้าฟ้าทันสมัย และทรงเป็นผู้นำแฟชั่น