ส่งลูกช้างป่าขาติดบ่วง รักษาต่อที่สวนนงนุช พัทยา เผยอาการล่าสุด ไม่ซึม-กินนมที่บีบจากแม่ช้างได้
logo ข่าวอัพเดท

ส่งลูกช้างป่าขาติดบ่วง รักษาต่อที่สวนนงนุช พัทยา เผยอาการล่าสุด ไม่ซึม-กินนมที่บีบจากแม่ช้างได้

ข่าวอัพเดท : จากกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน อำเภอเขาชะเมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านเขาห้อยหัว หมู่ 8 ต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา ว่าพบลูกช้างป่า ลูกช้าง,ลูกช้างป่า,ขาติดบ่วง,สวนนงนุช,พัทยา

6,273 ครั้ง
|
23 ธ.ค. 2561
จากกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน อำเภอเขาชะเมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านเขาห้อยหัว หมู่ 8 ต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา ว่าพบลูกช้างป่าเพศเมีย บาดเจ็บ โดยที่ข้อเท้าซ้ายหน้า มีลวดสลิงรัดจนเกือบขาดและเป็นแผลเน่าเปื่อย จึงแจ้งสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 2 ศรีราชา มาให้ความช่วยเหลือลูกช้างป่าซึ่งบาดเจ็บสาหัส
 
ความคืบหน้าล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความระบุว่า (22 ธ.ค.2561) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ประจำ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้เปิดเผยว่า
 
ทีมสัตวแพทย์ สสป.สบอ2 (ศรีราชา) (ทำการดูแลรักษามาแล้วตั้งแต่วันที่ 18 - 22 ธ.ค. 2561 รวม 5 วัน) โดยวันนี้ทางทีมสัตวแพทย์ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ทีมสัตวแพทย์จากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สวนนงนุช พัทยา ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าตัวดังกล่าวจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน มาทำการดูแลรักษาต่อ ณ สวนนงนุช พัทยา 
 
เนื่องจากทางสวนนงนุชมีแม่ช้างเลี้ยงเพิ่งที่จะคลอดลูก เพื่อสุขภาพของลูกสัตว์ที่ดีควรได้รับนมจากแม่ช้าง และทีมสัตวแพทย์ สบอ.2 (ศรีราชา) ทีมสัตวแพทย์จากกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จะทำการรักษาแผลจากการโดนบ่วงรัดบริเวณขาหน้าซ้ายร่วมกับทีมสัตวแพทย์สวนนงนุช 
 
จากการตรวจการมาเลี้ยงของเลือดบริเวณปลายขา โดยใช้เครื่องอัลตร้าโซนิคแบบดรอปเปอร์ พบว่ายังมีเลือดมาเลี้ยงเล็กน้อยและทำการทำแผลภายนอก
 
จากนั้นได้ทำการรักษาขอบบนของแผลด้วยเครื่องยิงเลเซอร์ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ทำการวางแผนการรักษาโดยจะทำการรักษาแผลภายนอก (ทำแผลทุกวัน) ทำการยิงเลเซอร์ด้านบนของขอบแผล (เพื่อเป็นการสลายเซลล์เนื้อตายและสร้างเซลล์ใหม่) และกดรั้งปิดแผลเพื่อที่จะให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงปลายขาฝ่อลีบซึ่งมีผลดีต่อการผ่าตัดในอนาคต (โดยใช้เทปเหนียวพันยึด)
 
ล่าสุด ลูกช้างป่ามีพฤติกรรมสนใจสิ่งแวดล้อม สามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ ไม่มีอาการซึม ไม่อ่อนเพลีย สามารถกินนมที่บีบจากแม่ช้างได้ ขับถ่ายและฉี่ได้ปกติ’
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช