ภาคเอกชนมองเศรษฐกิจยังไม่สะดุด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นบรรทัดฐานในการสร้างความโปร่งใสให้กับรัฐบาลใหม่ในการใช้งบประมาณ
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า คงไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการขยายตัวด้านเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะประมาณการณ์ของสภาพัฒน์, แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังรวมถึงสำนักวิจัยต่างๆ ได้ตัด ปัจจัยด้านการลงทุนดังกล่าวออกไปแล้ว และตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจ ของศูนย์วิจัยฯ ที่คาดว่าปีนี้จะโตที่ 3% ก็ถือว่าไม่นับรวมการลงทุนดังกล่าวได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก็คือการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับขีดความสามารถของไทย ต้องล่าช้าออกไปเพราะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากฟากฝั่งไหน ก็จะต้องมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อปฏิรูปประเทศก่อน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว น่าจะกินระยะเวลา 6-8 เดือน และเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น การลงทุนภาครัฐ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดคือ ครึ่งหลังของปีหน้า
ด้านนายไพบูลย์ นรินทร์ทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย บอกถึงคำตัดสินดังกล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นของไทย ได้สะท้อนว่าโครงการ 2 ล้านล้านบาท ไม่น่าจะเกิดหลังจากที่รัฐบาลยุบสภา โดนผลกระทบได้สะท้อนไปจากดัชนีหุ้น ที่ปรับตัวลดลงจาก 1,650 จุด เหลือ 1,350 จุด ในปัจจุบัน หรือหายไปกว่า 300 จุด แต่หลังจากนี้รัฐบาลชุดใหม่ ก็ยังมีความสามารถที่จะนำโครงการดังกล่าวไปศึกษา และนำไปปฏิบัติในอนาคต เพราะนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่ามีความจำเป็นและทุกฝ่าย แสดงความเห็นด้วยต่อการลงทุน เพราะจะช่วยสร้างงาน และก่อให้เกิดการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของไทย เพียงแต่สิ่งที่ต้องปรับปรุง คือเรื่องของวิธีการใช้เงิน ซึ่งกระบวนการเดิมศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมองว่า ก่อให้เกิดความไม่โปร่งใส ดังนั้นในอนาคตก็มีโอกาสที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าวได้ด้วยปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงิน มาเป็นการใช้เงินงบประมาณ หรือแนวทางการใช้เงินจากแหล่งอื่นๆ ที่มีกระบวนการตรวจสอบชัดเจน
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าคำตัดสินดังกล่าว อาจทำให้กระบวนการจัดหาเงินในโครงการ และกระบวนการด้านกฎหมายในการลงทุน มีความถูกต้อง และเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้รัฐบาลชุดใหม่ ทำงานต่อไปได้สบายใจขึ้น โดยรูปแบบการทำโครงการหลังจากนี้ อาจแยกออกมาเป็นรายโครงการที่มีความจำเป็นก่อน เช่น โครงการรถไฟรางคู่ หรือโครงการพัฒนาด่านชายแดน ซึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แต่ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ก็อาจจะต้องศึกษารายละเอียดอย่างชัดเจน ก่อนที่จะมีการลงทุน ส่วนรูปแบบการใช้เงินก็จะต้องศึกษาหลายแนวทาง เช่น กระบวนการงบประมาณ หรือการลงทุนในรูปแบบพีพีพี ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามา ก็คงต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 1% ต่อปีแต่แน่นอนว่ากระบวนการที่เกิดขึ้น อาจจะล่าช้าไป 1 ถึง 2 ปี