ผอ.เขตประเวศ เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องหาที่มาเหตุรถจมน้ำในอุโมงค์
logo ข่าวอัพเดท

ผอ.เขตประเวศ เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องหาที่มาเหตุรถจมน้ำในอุโมงค์

ข่าวอัพเดท : ผอ.เขตประเวศเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเหตุรถจมน้ำอุโมงค์ลอดทางรถไฟหาที่มาของปริมาณน้ำท่วมอุโมงค์ ผอ.เขตประเวศ,รถจมน้ำในอุโมงค์,ขับรถลุยน้ำในอุโมงค์

4,219 ครั้ง
|
07 ก.ย. 2561
ผอ.เขตประเวศเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเหตุรถจมน้ำอุโมงค์ลอดทางรถไฟหาที่มาของปริมาณน้ำท่วมอุโมงค์
 
วันนี้ (7 ก.ย. 2561) เมื่อเวลา 11.00 น. นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตประเวศ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณอุโมงค์ลอดทางรถไฟทางเข้าหมู่บ้านโกลเด้น นครา ซอยอ่อนนุช 65 แยก 14 ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุรถยนต์ของนางสาวภาณุมาศ แซ่แต้ นักธุรกิจวัย 41 ปี เสียชีวิตภายในรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า สีดำ ที่จมอยู่ใต้ทางลอดอุโมงค์ทางเข้า-ออกของหมู่บ้าน
 
นายธนะสิทธิ์ เผยว่า เมื่อวานที่น้ำเต็มอุโมงค์ ช่วงประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการสูบน้ำจนอยู่ในระดับ 30-40 ซม. จึงเข้ามาตรวจสอบเบื้องต้นก่อนและอยู่ในระหว่างรอแบบการก่อสร้างอุโมงค์ของหมู่บ้าน หากสูบน้ำออกหมดแล้วจะต้องวัดปริมาณของทางลอดบริเวณดังกล่าวว่ามีระดับน้ำอยู่กี่ลูกบาศก์เมตร ซึ่งในวันเกิดเหตุมีน้ำอยู่จำนวน 1,971 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่อุโมงค์ทางลอดมีความยาว 95.4 เมตร ลึก 3 เมตร กว้าง 10 เมตร ซึ่งจะต้องมาตรวจสอบหาว่าน้ำจำนวนดังกล่าวมาจากไหน บ่อซำที่อยู่ใต้ดินมีความลึก 10 เมตร กว้าง 5.5 เมตร ยาว 6.5 เมตร จะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 357.5 ลูกบาศก์เมตร 
 
โดยภายในบ่อซำได้มีการตรวจลักษณะของน้ำในเบื้องต้นพบว่ามีลักษณะเน่าเหม็น สีดำ ต่างกับน้ำในวันเกิดเหตุ ซึ่งคงจะเป็นคนละส่วนกันแล้ว แต่บ่อในส่วนนี้เชื่อมต่อกัน น้ำในบ่อซำอาจจะปนเข้ามาได้แต่ไม่ใช่น้ำในบ่อซำทั้งหมด เพราะในบ่อซำจุน้ำได้ 300 กว่า ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำมีความต่างกันถึง 1,613.5 ลูกบาศก์เมตร จึงต้องกลับมาตรวจสอบใหม่
 
โดยหลังจากนี้จะดูแบบการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ของโครงการว่ามีการก่อสร้างและขออนุญาตเมื่อใด รวมถึงระบบไฟที่แชร์ลงเครื่องปั้ม ระบบไฟทางที่วันเกิดเหตุมีการดับไฟทางให้มืดทำให้มองสภาพน้ำไม่เห็นมีระบบไฟเชื่อมต่อกันอย่างไร รวมถึงหามาตรการในการป้องกันเหตุในลักษณะนี้ 
 
ซึ่งในเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานเขตประเวศ ตนได้ประสานเชิญนิติบุคคลหรือผู้แทนของหมู่บ้านในเขตพื้นที่เข้ามาร่วมประชุมเรื่องการวางแนวทางและหามาตรการป้องกัน เช่น การติดตั้งกล้องซีซีทีวี มีอุปกรณ์ช่วยเหลือในกรณีที่มีการจมน้ำ เช่น ป้อมทางเข้าที่อยู่ใกล้อุโมงค์ทางลอดเพียง 50 เมตร สามารถติดตั้งรอกสลิงไฟฟ้าเพื่อลากรถขึ้นมาได้ การติดตั้งปั้มน้ำสำรอง และการตรวจสอบระบบปั้มน้ำอยู่ตลอด หากมีระดับน้ำสูงจะต้องมีสัญญาณหรือป้ายเตือน รวมถึงมีแผงกั้นเพื่อไม่ให้รถวิ่งเข้ามา ทั้งนี้ในพื้นที่ประเวศมีอุโมงค์ลอดลักษณะดังกล่าวอีก 1 หมู่บ้าน