ศาลฎีกา ยกฟ้อง ‘ทักษิณ’ คดีฟื้นฟูกิจการ TPI
logo ข่าวอัพเดท

ศาลฎีกา ยกฟ้อง ‘ทักษิณ’ คดีฟื้นฟูกิจการ TPI

ข่าวอัพเดท : ศาลฎีกาคดีนักการเมือง ยกฟ้อง ‘ทักษิณ’ คดีฟื้นฟูบริษัท TPI ชี้ไม่ปรากฎหลักฐานแสวงหา หรือ ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่ ปปช. ระบุจะนำคำพิพาก ยกฟ้องทักษิณคดีฟื้นฟูบริษัท TPI,บริษัท TPI,ทักษิณ ชินวัตร

6,911 ครั้ง
|
29 ส.ค. 2561
ศาลฎีกาคดีนักการเมือง ยกฟ้องทักษิณคดีฟื้นฟูบริษัท TPI ชี้ไม่ปรากฎหลักฐานแสวงหา หรือ ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่ ปปช. ระบุจะนำคำพิพากษากลับไปพิจารณา เพื่อตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
 
องค์คณะผู้พิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ทั้งที่ไม่มีอำนาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ
 
ซึ่งศาลพิเคราะห์ เห็นว่า แม้จะไม่มีกฎหมายให้กระทรวงการคลังในการเข้าไปฟื้นฟูกิจการของเอกชน แต่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่กำกับดูแลการเงิน การคลังของประเทศ ซึ่งบริษัท TPI ถือเป็นบริษัทปิโตรเคมี และ พลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ รวมถึงมีพนักงานกว่า 7 พันคน อีกทั้งการประสบปัญหาด้านการเงินของบริษัท ไม่ได้มาจากการบริหารที่ผิดพลาด แต่เกิดขึ้นเพราะการประกาศค่าเงินบาทลอยตัวของรัฐบาลในขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นรวมกว่า 1 แสน 3 พันล้านบาทในชั่วข้ามคืน ดังนั้นหากไม่เข้าไปแก้ไขปัญหา จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม 
 
จึงมีเหตุผลโดยชอบที่กระทรวงการคลังในการเข้าไปฟื้นฟู ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการ เจ้าหนี้ คือธนาคารกรุงเทพ กับ ลูกหนี้ คือ บริษัท TPI ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง โดยไม่ปรากฎหลักฐานเป็นการก้าวก่ายเอกชน ไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซง หรือครอบงำกิจการ และอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะกำหนดตัวบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นผู้บริหารฟื้นฟูกิจการ ซึ่งไม่ปรากฎว่าจำเลยมีส่วนได้เสีย หรือได้รับประโยชน์ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงการคลัง องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก จึงเห็นว่า รับฟังไม่ได้ว่าจำเลย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามข้อกล่าวหา จึงพิพากษายกฟ้อง 
 
ทั้งนี้ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้อำนวยการสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. บอกเพียงว่า จะนำคำพิพากษากลับไปรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาประกอบพยานหลักฐานที่มี เพื่อตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
 
สำหรับคดีนี้ ถือเป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช. มีมติรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาลับหลังจำเลย หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่เปิดช่องให้ทำได้ เพื่อแก้ปัญหาจำเลยหลบหนีคดีจนต้องจำหน่ายคดีออกจากสาระบบเป็นการชั่วคราว ไม่สามารถเดินหน้าไต่สวนเอาผิดแก่จำเลยได้
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง