ศาลปกครองพิพากษาคืนตำแหน่ง 'พัชรวาท' ชี้ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง
logo ข่าวอัพเดท

ศาลปกครองพิพากษาคืนตำแหน่ง 'พัชรวาท' ชี้ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง

6,677 ครั้ง
|
28 ก.พ. 2557

ศาลปกครองฯ พิพากษาถอนคำสั่ง 'อภิสิทธิ์'  เหตุปลด 'พล.ต.อ.พัชรวาท' ออกจากตำแหน่ง 'ผบ.ตร' คดีสลายการชุมนุม ปี 51 ชี้ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง  

 

เมื่อ เวลา 10.00 น. วันที่ 28 ก.พ. 2557 นายศรศักดิ์ นิยมธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 99/2554 ที่พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค.2552 ซึ่งลงโทษปลดพล.ต.อ.พัชรวาท ออกจากราชการ 

เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติว่า พล.ต.อ.พัชรวาท กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างร้ายแรง กรณีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมในวันที่ 7 ต.ค.2551 เป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ  ตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 17/2552 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2552 ระบุว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ได้กระผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้สั่งยกโทษ  ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นให้ยก 

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนี้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร.ที่ให้คืนตำแหน่งให้กับพล.ต.อ.พัชรวาท ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น ว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องรับทราบและยกเลิกคำสั่งลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร. โดยไม่อาจใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นได้  เนื่องจากเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 โดยเฉพาะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นข้อกฎหมายที่มีปัญหามติ ก.ตร. ต้องปฏิบัติตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 

ซึ่งระบุว่า องค์กรกลางในการบริหารบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ไม่สามารถวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ แล้วเปลี่ยนฐานความผิดเพื่อกำหนดโทษใหม่ได้นั้น เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องสั่งการตามมติ ก.ตร. หรือบันทึกโต้แย้งมติ ก.ตร. เพื่อให้ก.ตร.พิจารณาทบทวนใหม่ แต่นายกฯกลับรับทราบความเห็นดังกล่าว แล้วมิได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นเมื่อ ก.ตร. มีมติให้คืนตำแหน่งแก่พล.ต.อ.พัชรวาท นายกรัฐมนตรีจึงปฏิบัติเป็นอย่างอื่นไมได้ ซึ่งศาลยังเห็นว่าการที่นายกฯไม่ดำเนินการใดๆ ตามมติ ก.ตร. และจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร   

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีดังกล่าวนี้ เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบันต้องดำเนินการตามคำพิพากษาหากไม่อุทธรณ์ แต่หากเห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งก็สามารถยื่นอุทธัณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับแต่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา