ตั๋วร่วม "แมงมุม" เริ่มใช้ 22 มิ.ย.นี้ นำร่องรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-สีม่วง ก่อนขยายไปรถเมล์-แอร์พอร์ตลิงก์ตุลาคมนี้ แต่ยังไม่ชัวร์ "BTS" ร่วมระบบหรือไม่ ผู้บริหาร BTS ระบุช่วงปลาย พ.ค.ที่ผ่านมาว่าระบบบัตรเปลี่ยนไปจากที่เคยตกลงกันไว้จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ด้านผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มใช้ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและม่วงได้ 20 ก.ค.นี้ แต่ต้องลงทะเบียนระหว่าง 6 ก.ค.-30 ก.ย. 61
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุความคืบหน้าการใช้ระบบตั๋วร่วมว่า ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ รฟม.จะเปิดตัวบัตรแมงมุมอย่างเป็นทางการและจะเริ่มแจกบัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบให้แก่ประชาชน ซึ่งจะสามารถใช้งานได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) และรถไฟฟ้าสายสีม่วงก่อน โดยผู้สนใจสามารถติดต่อรับบัตรแมงมุมได้ในทุกสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยแสดงบัตรประชาชนและลงทะเบียน 1 คนต่อ 1 ใบ ซึ่งจะแจกจนกว่าบัตรจะหมด โดย รฟม.จะกระจายบัตรไปทุกสถานี และจะขยายการใช้งานบัตรแมงมุมไปที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถ ขสมก. ในเดือน ต.ค. 2561
ส่วนการเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนใช้งานรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นจะเริ่มในวันที่ 20 ก.ค. 2561 เบื้องต้นประเมินว่าจะมีการนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้บริการรถไฟฟ้าประมาณ 50% ของมูลค่า หรือประมาณ 250 บาท จากมูลค่าในบัตร 500 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เปิดรับขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อรับสิทธิ์ใช้บริการในระบบรถไฟฟ้า MRT โดยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นทะเบียน ณ จุดให้บริการทุกสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.-30 ก.ย. 2561
อนึ่ง มีประชาชนส่วนหนึ่งตั้งแสดงความคิดเห็นบนเพจของรฟม. ตั้งข้อสังเกตว่าบัตรแมงมุมดังกล่าวยังไม่สามารถใช้งานร่วมกับระบบรถไฟฟ้า BTS ได้ กรณีนี้นิตยสาร BLT Bangkok เคยตีพิมพ์บทความถึงสาเหตุในเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา (อ่านบทความต้นทาง : "ยืดเวลาใช้ตั๋วร่วมอัพเกรดระบบเป็น EMV แมงมุม 4.0" คลิก) ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีมติให้พัฒนาระบบตั๋วร่วมให้รองรับการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต แทนบัตรเงินสดได้เลย ซึ่งระบบดังกล่าวเรียกว่าระบบ EMV และคาดว่าจะพัฒนาระบบ EMV ให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2562 แต่ขณะนี้ก็จะแจกบัตรแมงมุมซึ่งเป็นบัตรแยกไปก่อน
แต่ปรากฎว่านายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบีทีเอสกลับระบุว่ายังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าจะปรับระบบเป็นแบบ EMV หรือไม่ เนื่องจากรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยหารือกันไว้ จึงต้องดูให้รอบคอบในหลายๆ ด้าน และต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลให้ชัดเจนก่อนทั้งเรื่องต้นทุนการปรับระบบ ค่าธรรมเนียม รวมถึงเรื่องของข้อมูลในบัตร ซึ่ง รฟม.ก็ระบุเช่นกันว่าต้องไปหารือกับบีทีเอสซึ่งเป็นเอกชนเรื่องการปรับระบบก่อน นี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยังไม่มี BTS ในระบบตั๋วร่วม "แมงมุม" ในเวลานี้
ระบบตั๋วร่วมที่มีชื่อว่า "แมงมุม" เคยมีกำหนดเปิดใช้นำร่องต้นปี 2560 และต่อมาถูกเลื่อนไปเป็นกลางปี 2560 จากปัญหาร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมที่ดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรไม่แล้วเสร็จ จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2560 ก็มีการประกาศว่าจะเลื่อนการใช้งานเป็นเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แต่ทว่าเมื่อถึงเวลาจริงก็มีการประกาศเลื่อนกำหนดการมาอีกเป็นเดือนมิถุนายน 2561 ดังกล่าว
(ข้อมูลประกอบจาก : BLT Bangkok)
+ อ่านเพิ่มเติม