อย.จับผลิตภัณฑ์เสริมลดน้ำหนักอันตราย 'เอเชีย สลิม'
logo ข่าวอัพเดท

อย.จับผลิตภัณฑ์เสริมลดน้ำหนักอันตราย 'เอเชีย สลิม'

ข่าวอัพเดท : อย. ร่วมกับ ปคบ. ลงพื้นที่แหล่งผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เอเชีย สลิม อาหารเสริมลดน้ำหนัก ที่มีส่วนผสมสารอันตราย ไซบูทรามีน ยึดผลิตภัณฑ์จำ อยจับอาหารเสริมลดอ้วน,เอเชียสลิม,ไซบูทรามีน,อาหารเสริมลดอ้วนผสมไซบูทรามีน

2,946 ครั้ง
|
06 มิ.ย. 2561
          อย. ร่วมกับ ปคบ. ลงพื้นที่แหล่งผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 'เอเชีย สลิม' อาหารเสริมลดน้ำหนัก ที่มีส่วนผสมสารอันตราย ไซบูทรามีน ยึดผลิตภัณฑ์จำนวนมาก นำส่งกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์
 
         นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงจับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 'เอเชีย สลิม' (Asia Slim) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใช้ในการลดความอ้วน ที่มีการโฆษณาเกินจริง และเคยตรวจพบส่วนผสมสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย ที่ อย. ได้ยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 โดยการจับกุมในครั้งนี้ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 'เอเชีย สลิม' (Asia Slim) จำนวน 4 จุด ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบผลิตภัณฑ์ Asia Slim ที่ฉลากระบุผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก แต่เมื่อแกะจากซอง พบภายในเป็นซองพลาสติกใส 2 ซอง และข้างในพบเป็นเม็ดยาลักษณะยาชุด ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป 
 
        นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามกฎหมายให้ยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 แล้ว ดังนั้นผู้ใดขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยา ไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์อาหาร จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท จึงขอเตือนมายังผู้ประกอบการใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมาย มิเช่นนั้นจะได้รับโทษสูงสุด และขอให้ผู้บริโภคระลึกเสมอว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน หรือมีผลในทางยา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของยา ซึ่งผู้ใช้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานั้น จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 
 
        ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จําหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณ โดยเฉพาะอ้างลดความอ้วน ทาง Social Media สามารถแจ้งได้ที่ อย.